งานการเมืองข้ามประเทศ ขับเคลื่อนโดยคนลูก แต่งานการเมืองในประเทศน่าลุ้นว่าจะขับเคลื่อนโดยคนพ่อหรือไม่ ? เพราะก่อนหน้านี้ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ตอบชัดว่ามีโอกาสที่จะได้ลงพื้นที่ร่วมกับ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร หากเป็นเช่นนี้ เท่ากับเปิดทางไว้ล่วงหน้า คอการเมืองฟันธงแล้วว่า ได้เห็นแน่
แม้นายทักษิณ ชินวัตร จะยืนยันแล้วว่า "ป่วยจริง" และบอกว่า "อาการดีขึ้นแล้ว" แต่คนการเมืองอย่าง นายสมชาย แสวงการ และนายรังสิมันต์ โรม ยังเคลือบแคลงสงสัย เมื่อได้เห็นภาพการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะเดียวกัน นายสมชาย ยังเรียกร้องให้ ป.ป.ช. รับไต่ส่วนคำร้องให้สอบนายกรัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับกรณีการอนุญาตให้ นายทักษิณ เข้ารักษาในโรงพยาบาลตำรวจนาน 180 วัน
หนึ่งในคู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทย ไม่เฉพาะในพื้นที่เชียงใหม่ คือ พรรคก้าวไกล การเลือกตั้งครั้งล่าสุด "ก้าวไกล" ชิงพื้นที่ไข่แดงของ "เพื่อไทย" ในจังหวัดเชียงใหม่มาได้ 7 จาก 10 เขต การปรากฎตัวของทักษิณ จึงสะท้อนความหมายทางการเมือง นั่นคือ การประกาศกลับมา และการเช็กกระแส
นอกจากการกลับมาเชียงใหม่ของ "ทักษิณ" เป็นการประกาศให้ทั้งประเทศรู้ว่า "ทักษิณและเพื่อไทย" กลับมาแล้ว อีกเรื่องคือ สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ศ.เกียรติคุณ ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มองหากจะเรียกคะแนนเสียงกลับคืนมาได้ "เพื่อไทย" ต้องมาพร้อมกับอะไรใหม่ ๆ
รูปคู่ระหว่าง "มหวรรณ กะวัง" อดีตดีเจกลุ่มคนเสื้อแดง กับ "ทักษิณ ชินวัตร" บ่งบอกถึงความรักที่มีต่ออดีตนายกฯ ยอมควักเงินส่วนตัวบินไกลถึงดูไบ เพื่อพบกับทักษิณ และยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ม.ปลาย กับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นั่นอาจทำให้ยิ่งรู้สึกผูกพัน และเคารพตระกูลชินวัตร แม้วันนี้เสื้อแดงบางส่วนอาจเปลี่ยนเฉดและปันใจให้นักการเมืองคนอื่นก็ตาม
ทักษิณ ชินวัตร ยังอยู่ระหว่างพักโทษ การจะเดินทางไปไหนไม่ใช่ว่าทำได้ตามอำเภอใจ ฉะนั้นการที่แพทองธาร บอกว่าพ่ออยากไปเชียงใหม่ ไม่ได้หมายความว่าจะไปจริง แต่คอการเมืองมองเบื้องหลังไปที่เจตนาของการสื่อสาร เจ้าตัวอาจจะแค่เล่าให้นักข่าวฟังเป็นกิมมิก แต่อดคิดไม่ได้ว่านี่คือการส่งสัญญาณแรง ๆ ออกมาจากบ้านจันทร์ส่องหล้า ถึงฐานที่มั่นสำคัญทางการเมืองอย่างเชียงใหม่
บทบาทของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กับการเมืองไทย และแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคร่วมรัฐบาล มีเสียงสะท้อนตรงกัน หากจะเรียกว่า "บ้านจันทร์ส่องหล้า" เป็นผู้มีอำนาจซึ่งเป็นคีย์แมนตัวจริงน่าจะได้ โดยเฉพาะภาพของอดีตนายกฯ ทักษิณ พบกับ อดีตนายกฯ ฮุน เซน แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจทางการเมือง
"สมเด็จฮุนเซน" เดินกลับกัมพูชา หลังเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า รับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน 2 ชั่วโมง ก่อนจะโพสต์ Facebook รำลึกความหลัง . ใจความระบุว่า ได้มาเยี่ยมนายทักษิณ แม้จะเจ็บป่วยแต่ยังเป็นพี่น้องกัน และได้เชิญนางสาวแพทองธาร ไปเยือนกัมพูชาในวันที่ 14 และ 15 มีนาคมนี้ ยืนยันว่าไม่ได้มีการคุยเรื่องการเมือง แต่ชวนให้คำนึงถึง 32 ปีแห่งมิตรภาพที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ปี 1992
ชวนคุยประเด็นร้อน...จับตาทักษิณกลับบ้านจันทร์ส่องหล้า หลังได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ แล้วข้อปฏิบัติทักษิณหลังได้รับการพักโทษ กลับบ้านจันทร์ส่องหล้า มองการเมืองไทยหลังจากทักษิณได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ "เดินหน้า - ถอยหลัง" นโยบาย Digital Wallet รัฐบาลเพื่อไทย
หลังจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษ กลับบ้านที่บ้านจันทร์ส่องหล้าแล้วไปเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 67 นั้น ได้ถูกจับตาความเคลื่อนไหวและทิศทางการเมืองหลังจากนี้ อย่าง ผศ.ดร. วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินสมดุลอำนาจของรัฐบาลจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ?
วิเคราะห์ฉากทัศน์การเมืองไทย กับ รศ.ธนพร ศรียากูล ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ในประเด็น การพักโทษของ ทักษิณ ชินวัตร และการดำเนินนโยบาย "ดิจิทัลวอลเล็ต" ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ ส่งผลต่อทิศทางการเมือง และสถานการณ์การเมือง ไม่เฉพาะเพื่อไทย แต่ยังหมายรวมถึง ครม. เศรษฐา
วันนี้ (15 ก.พ. 67) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเตรียมต้อนรับนายทักษิณ ชินวัตร หลังได้รับการพักโทษตามที่มีกระแสข่าวว่า เป็นวันที่ 18 ก.พ.นี้ ว่า ตอนนี้ให้หลาน ๆ เขียนการ์ด อย่างไรก็ตาม คิดว่าครอบครัวจะไปต้อนรับกันทุกคนที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ทั้งนี้ ถ้าคุณหมอไม่ต้องตรวจอาการต่อจะออกวันที่ 18 ก.พ. เลยหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ค่ะ ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น
หลังเที่ยงคืนหนึ่งนาที ของวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ แหล่งข่าวยืนยันว่า นายทักษิณ ชินวัตร จะออกจากโรงพยาบาลตำรวจ มุ่งหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้าทันที ไม่มีแวะที่ไหน และตั้งใจจะไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชน แต่มีรายงานเพิ่มเติมว่า นายทักษิณ แสดงเจตนาจะเปิดใจกับสื่อมวลชน เพื่อสื่อสารกับประชาชน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมือง แต่ระหว่างนี้ ขอเก็บตัว และใช้เวลาพักฟื้นสักระยะหนึ่ง ถ้ายึดตามข้อมูลที่ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า นายทักษิณ ชินวัตร เป็น 1 ใน 930 ที่ได้รับสิทธิ์ "พักโทษ" เดือนกุมภาพันธ์นี้ และถ้าเป็นไปตามรายงานการประชุมที่เกณฑ์ที่นายทักษิณ ได้พักโทษด้วยเหตุพิเศษ คือ เจ็บป่วยร้ายแรง หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป และรับโทษแล้ว 1 ใน 3 หรือ 4 เดือนจากโทษทั้งหมด 1 ปี
วันนี้ (14 ก.พ. 67) เป็นที่ยืนยันจาก รมว.ยุติธรรม แล้วว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษ หลังได้รับโทษมาแล้ว 1ใน 3 หรือ 6 เดือน การพักโทษครั้งนี้ถูกจับตาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะท่าทีทางการเมืองของนายทักษิณจากนี้ อำนาจทางการเมืองจะกลับไปอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งเป็นที่พำนักของนายทักษิณ และเป็นสถานที่หารือทางการเมือง อีกครั้งหรือไม่
การพักโทษของนายทักษิณ ชินวัตร และการพ้นโทษในอนาคต จะส่งผลต่อพรรคเพื่อไทย และการเมืองไทยอย่างไร รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมือง นิด้า ให้ความเห็นว่า ในอนาคตอาจจะได้เห็น "บ้านจันทร์ส่องหล้า" หัวกระไดไม่แห้ง มีคนเข้าไปแสดงความยินดี ปรึกษาหารือ และบ้านแห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาล
หลัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยถึงการพักโทษนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ มีการเสนอรายชื่อนักโทษที่จะได้รับการพักโทษมาที่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีคณะอนุกรรมการร่วมกันพิจารณา โดยมีรายชื่อนักโทษทั้งหมด 945 คน ซึ่งอนุมัติไป 930 คน โดยนายทักษิณ มีชื่อในลิสต์ ที่เข้าเกณฑ์พักโทษ อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป เตรียมปล่อยตัวหลังรับโทษครบ 6 เดือน บทบาทของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร กับการเมืองไทย และความเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาลหลังบริหารประเทศมา 6 เดือน จะเป็นอย่างไร จะเข้ามาเป็นผู้วางกระดานการเมืองแบบไหน พูดคุยกับ - รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง - รศ.พรชัย เทพปัญญาอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
วันนี้ (13 ก.พ. 67) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงการเสนอพักโทษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า มีการเสนอการพักโทษมายังกระทรวงแล้ว จำนวน 945 คน อนุมัติจำนวน 930 คน หนึ่งในนั้นมีชื่อของนายทักษิณ ที่คณะกรรมการพักโทษได้พิจารณาเห็นชอบตามที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เสนอมา เนื่องจากเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยร้ายแรง หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป พร้อมย้ำว่าการพิจารณาเป็นไปตามระเบียบ ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าจะปล่อยตัววันใด