ทุเรียนในมณฑลทางตอนใต้ของจีน เริ่มให้ผลผลิตแล้ว สื่อจีนระบุว่าการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูชนบท ส่วนไทยเกษตรกรหลายจังหวัดหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น เช่นที่ จ.พะเยา ปีนี้เริ่มให้ผลผลิตแล้ว ราคาหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่ตรวจสอบกลุ่มทุนต่างชาติ ใช้นอมินีถือครองอสังหาริมทรัพย์ และเช่าที่ดินทำการเกษตร ปลูกทุเรียนและผลไม้เศรษฐกิจกินรวบต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่เพาะปลูก เปิดล้ง และส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ แย่งอาชีพและรายได้เกษตรกรไทย ติดตามชมรายการสถานีประชาชน ย้อนหลังได้ทาง www.thaipbs.or.th/program/People/episodes/103014
นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก เผยว่า รูปแบบทุนจีนที่เข้ามาประกอบธุรกิจทุเรียน มีคนไทยรับเป็นเจ้าของ แต่เขาจะเข้ามาควบคุม ตั้งแต่สวนทุเรียน ล้ง ทุเรียน จนระบบการขนส่งไปต่างประเทศ ทั้งนี้ เมื่อทุนจีนเข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อปลูกทุเรียนมากขึ้น ทำให้ชาวสวนมีปัญหาการแย่งน้ำ จนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำที่ใช้นำมาหล่อเลี้ยง นายชลธีต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจการถือครองที่ดิน และควรมีกฎหมายควบคุมให้เข้มข้นมากกว่านี้ เพราะเกรงว่าผลไม้ขึ้นชื่อของภาคตะวันออก อาจอยู่ในมือของต่างชาติ คล้ายกับกรณีทัวร์ศูนย์เหรียญ
จังหวัดชุมพรเผชิญภัยแล้งรุนแรงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ปีนี้สถานการณ์รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรที่มีทุนทรัพย์จะขุดเจาะบ่อบาดาล หรือซื้อน้ำมาหล่อเลี้ยงสวนทุเรียน แต่หากไม่มีก็ต้องจำยอมให้ทุเรียนยืนต้นตาย ชาวสวนทุเรียนแห่งหนึ่ง สะท้อนว่า ทุเรียนเกือบ 200 ต้น ในพื้นที่ 8 ไร่ ยืนต้นตายเกือบทั้งหมดแล้ว หลังจากที่ผ่านมาพยายามช่วยเหลือตัวเองด้วยการซื้อน้ำมารดสวนทุเรียน แต่ภัยแล้งที่ยาวนานจึงไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อน้ำต่อไปได้อีก ต้องจำยอมให้สวนทุเรียนยืนต้นตาย ทั้งนี้ ภาครัฐควรทำฝนเทียมตั้งแต่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่เริ่มเกิดภัยแล้ง มาทำฝนเทียมในช่วงนี้ ก็สายไปแล้ว
ทีมนักกีฬาหนูน้อยจ้าวเวหาไทยพีบีเอส ยังคงเดินหน้านำความรู้เรื่องโดรน ล่าสุดได้ลงไปที่จังหวัดชุมพร เพื่อสอนการบินพ่นปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลงในสวนทุเรียน และพร้อมที่จะจัดแข่งขันในอนาคตอีกด้วย ซึ่งการอบรมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ผู้จัดการแข่งขันหนูน้อยจ้าวเวหาไทยพีบีเอส ที่นำนักกีฬาจากเวทีการแข่งขัน ไปร่วมเปิดศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร ต้นแบบแห่งแรกของภาคใต้ ที่วิทยาลัยการอาชีพหลังสวน จ.ชุมพร ที่จะตั้งให้สถานศึกษาแห่งนี้ให้บริการแบบครบวงจร ทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ การประกอบ การซ่อม และการให้บริการบินโดรนเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะชาวสวนทุเรียน เพราะที่จังหวัดชุมพร มีผลผลิตทุเรียนมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ สำหรับโดรนที่นำมาใช้เป็นโดรนขนาดใหญ่ที่มีเรดาร์ป้องกันการชน เพิ่มฟังก์ชันใส่ถังในการหว่านเมล็ดพืชได้ด้วย
ไปดูเกษตรกรที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี นำเทคโนโลยีมาช่วยดูแลสวนทุเรียน โดยใช้ระบบควบคุมการจ่ายน้ำอัตโนมัติ ซึ่งวัดจากอุณหภูมิและความชื้น ภายในสวนทุเรียนผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยลดต้นทุนแรงงานและเวลา ชมย้อนหลังรายการทุกทิศทั่วไทย ได้ทาง www.thaipbs.or.th/Tuktid