ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ จ.นนทบุรี ยืนยันโครงสร้างเป็นไม้สักทองแม้อายุ 102 ปี แต่ยังแข็งแรง

Logo Thai PBS
ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ จ.นนทบุรี ยืนยันโครงสร้างเป็นไม้สักทองแม้อายุ 102 ปี แต่ยังแข็งแรง

เมื่อมองจากภายนอกอาคารศาลากลางหลังเก่าจังหวัดนนทบุรี ซึ่งปัจจุบันนี้คือพิพิธภัณฑ์ ทรุดโทรมไม่น้อย สร้างความกังวลแก่ผู้พบเห็น แต่ผู้ดูแลยืนยันว่าโครงสร้าง อาคารที่ทำด้วยไม้สักทอง ยังคงเป็นรากฐานที่แข็งแรงให้กับอาคารที่มีอายุเก่ากว่า 100 ปี

ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี เคยเป็นทั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย ที่เปิดสอนภาษาอังกฤษยุคแรกๆของเมืองไทย และเป็นที่ร่ำเรียนกฎหมายของวิทยาลัยมหาดไทยจนถึงปี 2551 คืและเป็นส่วนหนึ่งของบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ของอาคารไม้อายุ 102 ปี ที่ตั้งอยู่ท่าน้ำนนทบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี 2524  แม้อาคารสถาปัตยกรรมตะวันตกจะได้รับการบูรณะ และอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี เมื่อปี 2552 แต่สภาพทรุดโทรมเมื่อมองจากภายนอก สร้างความกังวลให้กับผู้ที่พบเห็น

"ถามว่าผุพังไหม มันก็มีส่วนที่ไม้กระดานหลุดบ้างเพราะสภาพอาคารเป็นร้อยปี มันเป็นไปตามกาลเวลา จะให้สวยงามเหมือนปีแรกๆคงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยังรับคนได้โดยอาจจะจำกัดจำนวนในการขึ้น แต่ยังใช้ได้อยู่ปกติ ตอนน้ำท่วมยังใช้รองรับคนได้เป็นพันคน" ณรงค์ชัย แก้วสกุล ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี กล่าว

ขณะที่สุปราณี หลักคำ เลขานุการศูนย์วัฒนธรรม จ.นนทบุรี กล่าวถึงเรื่องบประมาณว่า "กรมศิลป์มีงบประมาณน้อยอยู่แล้ว เพราะจะมีอาคารเก่าและวัดวาอารามที่ต้องดูแลมาก อันไหนที่มีความจำเป็นก่อนก็ไปใช้ก่อน อาคารนี้ไม่ได้ทรุดโทรมจนเกินไป จะทรุดโทรมบ้างภายนอกเท่านั้นแค่เพียงสีที่ลอก"

ศาลากลางหลังเก่าจังหวัดนนทบุรี เป็นอีกสถานที่ที่รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้ว แม้การตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะทำให้ตัวอาคารที่เป็นไม้ได้รับความชื้น อยู่บ้าง แต่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเสียหายบางส่วนบนพื้นกระดานที่เห็นอยู่นี้ เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นตามกาลเวลา

ตัวอาคารแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ประยุกต์ให้เข้ากับภูมิอากาศเขตร้อนด้วย การยกพื้นสูง เจาะช่องเป็นห้องใต้ดิน ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยไล่ความชื้นที่อาจเกิดขึ้นจากที่ตั้งซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ ระดับน้ำที่เพิ่มสูงทำให้บางครั้งห้องใต้ดินเจิ่งนองไปด้วยน้ำ หากโครงสร้างภายในที่เป็นไม้ซุงและไม้สักทอง ยังเป็นรากฐานที่มั่นคงของอาคาร

สุปราณี ยังกล่าวถึงประเด็นความชื้นที่อาจกระทบกับตัวอาคารอีกว่า ความชื้นคงไม่เป็นปัญหา แต่ความกร่อนด้วยอายุคงเป็นไปได้ เพราะที่นี่เป็นไม้สักทอง ไม่ผุ ปลวกไม่กิน เหมือนกับเรือที่ล่องในลำคลองซึ่งก็ทำจากไม้สัก ฐานรากเองก็ไม่ได้ตอกเสา เข็มเหมือนปัจจุบัน ใช้ไม้ซุงและไม้สักอัดเป็นท่อนๆลงไป ภาวะน้ำที่มากก็อาจทำให้ไม้ซุงมีการเคลื่อนตัว อาจมีผลต่ออาคารบ้าง แต่คงไม่มากเกินไป

อย่างไรก็ตาม เป็นเวลา 102 ปีแล้ว บนเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน อาคารเรือนไม้ 7 หลังตามผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าติดท่าน้ำนนทบุรี ยังคงทำหน้าที่สะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงบอกเล่าวิถีชาวเมืองนนทบุรีครั้งอดีตผ่านอาคารพิพิธภัณฑ์  โดยมีแผน การระยะยาวที่จะพัฒนาอาคารทั้ง 7 หลังให้เป็นศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เผยแพร่ข้อมูลท้องถิ่นให้คนภายนอกได้รู้จัก และให้คนเมืองนนท์เข้าใจความหมายและที่มาของนนทบุรีมากยิ่งขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง