วันนี้ (21 ม.ย.2568) หลังจากสำนักวาติกันออกแถลงการณ์ระบุว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระสังฆราชแห่งกรุงโรมและประมุขแห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก สิ้นพระชนม์ ทำให้ผู้นำทั่วโลกต่างแสดงความอาลัย
เจ.ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ขอร่วมส่งใจไปให้กับคริสต์ศาสนิกชนหลายล้านคนทั่วโลก รวมถึงยินดีที่ได้เข้าเฝ้าพระองค์ก่อนหน้านี้
เช่นเดียวกับเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ระบุว่า พระองค์อยู่เคียงข้างผู้ที่เปราะบางที่สุดมาโดยเสมอ ขณะที่ไอแซก เฮอร์ซอก ประธานาธิบดีอิสราเอล ระบุว่า พระองค์ทรงเป็นผู้มีความศรัทธาอย่างลึกซึ้งและมีความเมตตาอันไร้ขอบเขต

ประชาชนร่วมพิธีมิสซาที่อาสนวิหารนอเทรอดาม ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2025
ประชาชนร่วมพิธีมิสซาที่อาสนวิหารนอเทรอดาม ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2025
มีรายงานว่า พระคาร์ดินัล หรือพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ จะกำหนดวันประชุมเพื่อคัดเลือกพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ หลังจากผ่านพ้นช่วงการถวายอาลัยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
รับสั่งจัดพิธีศพเรียบง่าย
ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เข้ารับการรักษาพระวรกายหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดทรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงโรม เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยอาการปอดอักเสบและพักรักษาพระวรกายเป็นเวลานานถึง 38 วัน ก่อนที่จะทรงออกมาประทับยังสถานที่ประทับประจำตำแหน่ง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์
อ่านข่าว : จากบัวโนสไอเรสสู่วาติกัน “โป๊ปฟราสซิส” พระผู้ทรงเปลี่ยนแปลงศาสนจักร
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส รับสั่งให้มีการจัดพิธีศพแบบเรียบง่าย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงถือเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกในรอบมากกว่า 100 ปี ที่จะมีการฝังพระศพนอกเขตวาติกัน

ประชาชนแสดงความอาลัยสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส ภายในมหาวิหาร Westminster กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2025
ประชาชนแสดงความอาลัยสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส ภายในมหาวิหาร Westminster กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2025
สำหรับ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือพระนามเดิม ฮอร์เค มาริโอ แบร์โกกลิโอ ประสูติเมื่อปี 1936 ณ กรุงบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา จากนั้นทรงได้รับเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาพระองค์ที่ 266 แห่งพระศาสนจักร เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2013 ต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 โดยทรงเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่มาจากทวีปอเมริกาใต้
ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ปฏิรูปศาสนจักร และทรงเรียกร้องให้ตระหนักถึงและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความยากจน สงคราม ผู้อพยพ รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ
แต่พระองค์ยังต้องทรงเผชิญกับอุปสรรคเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหานักบวชก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งถือเป็นวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ของศาสนจักร
อ่านข่าว