เสียงสะท้อน
จำนวนกล้องวงจรปิดที่มีไม่เพียงพอต่อการเฝ้าระวังการก่อเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเช่นในเขตเทศบาลนครยะลาที่เกิดเหตุความรุนแรงบ่อยครั้ง แม้จะมีกล้องวงจรปิดอยู่แล้วกว่า 300 ชุด แต่ยังต้องการเพิ่มอีกกว่า 200 ชุด ถูกนำมาเป็นหนึ่งใน 4 เรื่องของยุทธศาสตร์สำคัญด้านการเสริมสร้างความปลอดภัยตามคำสั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายหลังการจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.จชต. ของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งนายสมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฎยะลา มองว่า ยิ่งเพิ่มความซ้ำซ้อนในการทำงานกับองค์กรที่มีอยู่ก่อนหน้านี้
นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้เร่งดำเนินการยุทธศาสตร์เสริมสร้างความปลอดภัยใน 4 เรื่องคือ จัดให้มีเขตรักษาความปลอดภัยหรือ เซฟตี้ โซน (SAFETY ZONE) ในพื้นที่ซึ่งมีเหตุความรุนแรงบ่อยครั้งและย่านเศรษฐกิจชุมชนสำคัญจำนวน 13 พื้นที่เช่น เขตเทศบาลนครยะลา เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเป็นต้น 2. ติดตั้งกล้องวงจรปิด ครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3. จัดตั้งด่วนตรวจถาวร ที่ตำบลควนมีด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และ 4.ตรวจสอบการย้อยถิ่นของบุคคลและการเคลื่อนย้ายยานพาหนะโดยให้ประสานข้อมูลกับทางการมาเลเซียอย่างใกล้ชิด
ซึ่งนายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์ นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยว จ.สงขลา ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีเซฟตี้โซน ซึ่งมีกำลังทหารรวมถึงเครื่องกีดขวางในย่านการค้ากลางเมืองหาดใหญ่ เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักคือ ชาวมาเลเซีย และ สิงคโปร์ มีความอ่อนไหวในเรื่องความปลอดภัย
ขณะนายเล็ก กู้สมานเกียรติ รองประธานเครือข่ายประชาสังคม อ.นาทวี จ.สงขลา มองว่า ทุกรัฐบาลที่เข้ามาแก้ปัญหาความไม่สงบยึดอำนาจรัฐเป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน
กว่า 8 ปีที่เกิดเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนายกรัฐมนตรีผลัดเปลี่ยนเข้ามาแก้ปัญหาแล้ว 6 คน แต่การแก้ปัญหาของทุกรัฐบาลยังอยู่ในลักษณะพายเรือในอ่างหาทางออกไม่เจอ ภาคประชาสังคม จ.สงขลา จึงเห็นว่า รัฐควรเปิดใจกว้างสนับสนุนให้มีการปกครองตนเองที่ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน เช่นเดียวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีจิตสำนึกรักท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่