การเตรียมความพร้อมการเป็นพลเมืองอาเซียน ในงาน “Weaving Us Together ทอเส้นสายลายอาเซียน”
ยามว่างจากรบ Mizhushima ทหารอาสาชาวญี่ปุ่น ก็ใช้พิณพม่า เครื่องดนตรีคู่ใจบรรเลงขับกล่อมเพื่อนทหารที่มาประจำการในพม่าช่วงสงคราม โลกครั้งที่ 2 แม้สงครามจะทำให้ญี่ปุ่น และพม่ายืนอยู่คนละฝ่าย แต่เครื่องดนตรีของอีกชาติกลับไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดเมื่อถูกนำมาใช้ สร้างความบันเทิง ฉากหนึ่งในภาพยนตร์คลาสสิคปี 1956 เรื่อง The Burmese Harp หนึ่งในภาพยนตร์อาเซียนที่นำมาฉายในงาน Weaving Us Together ทอเส้นสายลายอาเซียน ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้เพื่อนบ้านอาเซียนผ่านภาพยนตร์ ดนตรี และวัฒนธรรม สร้างความเข้าใจโดยใช้วิธีการทางมนุษยศาสตร์
เครื่อง แต่งกาย เอกลักษณ์ไทยถิ่นในแต่ละพื้นที่นำมาร้อยเรื่องราวผ่านการแสดงชุมนุม เผ่าไท โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมหลากหลายที่อยู่ร่วมกัน ไม่ต่างจากแนวคิดการรวมเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า
งาน Weaving Us Together ทอเส้นสายลายอาเซียน เป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้เยาวชนในระดับมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้และใกล้ชิด กับความเป็นอาเซียนมากขึ้น ผ่านมุมมองของนักมนุษยศาสตร์ เน้นสร้างความเข้าใจในมนุษย์ผ่านภาษา และศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมจัดถึงวันที่ 17 สิงหาคม ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย