ภาคเหนือเดินหน้าหามาตรการป้องกันน้ำท่วม หวั่นผลกระทบจาก “ไคตั๊ก”
เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันเทศบาลเมืองแพร่ เร่งบรรจุกระสอบทรายจำนวน 10,000 ใบ เพื่อเตรียมแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงที่อาจถูกน้ำท่วม ทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำ และย่านเศรษฐกิจ ริมแม่น้ำยม ด้านจังหวัดน่านได้สั่งการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนัก จากอิทธิผลของพายุ “ไคตั๊ก” ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงกว่า 600 หมู่บ้าน โดยเฉพาะอำเภอเชียงกลาง ท่าวังผา และ ทุ่งช้าง ซึ่งเป็นอำเภอตอนเหนือของจังหวัดน่าน ส่วนอำเภอที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก คือ อำเภอท่าวัง
ส่วนในเขตอำเภอเมืองมหาสารคาม ผู้รับเหมาก็เร่งขุดลอกแก้มลิง บ้านหนองนาแซง ตำบลลาดพัฒนา อำเภอเมืองมหาสารคาม เพื่อรองรับน้ำชี ไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตร โดยการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 80 คาดว่าจะรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้กว่า 45,000 ลูกบาศก์เมตร
ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งยังคงขยายวงกว้าง ล่าสุดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ นาข้าวของเกษตรกรในตำบลเจ้าท่า, ตำบลโพนงาม และตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย แห้งตายแล้วกว่า 4,000 ไร่ แม้ว่าพื้นที่ปลูกจะอยู่ในเขตชลประทาน แต่เนื่องจากเขื่อนลำปาวลดปริมาณการปล่อยน้ำ ทำให้พื้นที่ปลายน้ำไม่สามารถรับน้ำได้อย่างทั่วถึง
เช่นเดียวกับที่จังหวัดสุรินทร์ ฝนที่ทิ้งช่วงมานานกว่า 2 เดือน ทำให้ชาวนาต้องสูบน้ำเข้าที่นากันเองเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าว ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เร่งสำรวจความเสียหาย หากพบว่านาข้าวเสียหายทั้งหมด ภาครัฐจะจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 606 บาท เบื้องค้นคาดว่ามีนาข้าวเสียหายหลายหมื่นไร่