ธปท.เตรียมแถลงนโยบายการเงิน คาดมีผลต่อการกำหนดดอกเบี้ย-อัตราแลกเปลี่ยน และเศรษฐกิจ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมีการใช้นโยบายการเงิน โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมาย จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง และดอกเบี้ยลดลง ผู้ประกอบการมีต้นทุนกู้ยืมเงินน้อยลง ได้กำไรจากการขายมากขึ้น เมื่อแลกเงินจากสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการส่งออกขยายตัวดีขึ้น แต่หากคงนโยบายเดิม คือ ควบคุมการขยายตัวของเงินเฟ้อ, ค่าเงินบาท และดอกเบี้ย แม้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่า วิธีนี้เหมาะสมต่อการขยายตัว และรับมือความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้
สำหรับความเห็นขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับนโยบายการเงิน ทำให้แบงก์ชาติ ต้องเปิดเผยกระบวนการพิจารณานโยบายการเงินต่อสาธารณะชนครั้งแรก ในรอบ 10 ปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่ละครั้ง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใช้นักเศรษฐศาสตร์สาขาต่างๆ และเจ้าหน้าที่กว่า 80 คน ร่วมวิเคราะห์คาดการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ก่อนถกเถียงหาเครื่องมือการเงินที่เหมาะสมก่อนลงมติในขั้นสุดท้าย
ปัจจุบันแบงก์ชาติ จะใช้กรอบนโยบายควบคุมการขยายตัวของเงินเฟ้อ แต่ก็มีความยืดหยุ่นและมีเครื่องมือการเงินเพียงพอ ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพ แม้เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เคยแลกเปลี่ยนความเห็นนี้ กับนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่สามารถปรับความเข้าใจในบางประเด็น จึงเตรียมจัดประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี ในปลายเดือนหน้า เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในนโยบายการเงิน ก่อนพิจารณาประกาศนโยบายการเงินประจำปี 2556
นายประสาร กล่าวถึงกรอบนโยบายการเงิน แต่ละวิธี มีข้อดีและข้อเสีย และบางเหตุการณ์เศรษฐกิจ กนง.จะพิจารณาใช้หลายเครื่องมือ โดยอยู่บนหลักการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พร้อมยกกรณีศึกษาการใช้นโยบายการผูกค่าเงินบาทกับทองคำค่าเงินสกุลอื่นหรือกับตะกร้าเงิน หรือ การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน จนนำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 และถือเป็นบทเรียนความล้มเหลวในการใช้นโยบายดังกล่าว