"ไทย"หวัง"มาเลย์" แก้ข้อตกลงร่วมเปิดทางแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้

23 ส.ค. 55
15:31
170
Logo Thai PBS
"ไทย"หวัง"มาเลย์" แก้ข้อตกลงร่วมเปิดทางแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้

หัวหน้าศูนย์ประสานงานประเทศเพื่อนบ้าน เตรียมเปิดการแก้ไขความร่วมมือไทย-มาเลเซีย เปิดทางแก้ไขปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังลดปัจจัยสำคัญในการก่อเหตุรุนแรงทั้ง "แกนนำ-วัตถุระเบิด-แหล่งพักพิง" ชี้หากความร่วมมือไม่สำเร็จอาจกระทบ การเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558

<"">
<"">

สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังคงรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาซึ่งถึงปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง แน่นอนว่าปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านของไทยที่มีพรมแดนติดกัน รวมถึงอินโดนีเซีย ถือได้ว่า เป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

"ไทย"เล็งเพิ่ม 3 ประเด็นหลัก

พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพบก เผยใน รายการ "ตอบโจทย์" ทางไทยพีบีเอสว่า ในการแก้ไขข้อตกลงดังกล่าวในช่วงต้นเดือนหน้า ระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทย-มาเลเซียนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนของทั้ง 2 ประเทศที่มีมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 โดย ฝ่ายไทยนั้นต้องการปรับเพิ่มเติมความร่วมมือใน 3 ประเด็นหลักคือ ความร่วมมือด้านการปราบปรามการก่ออาชญากรรรมข้ามชาติ การปราบปรามยาเสพติด การค้าอาวุธสงครามและวัตุระเบิด ซึ่งเป็นความร่วมมือใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากข้อตกลงเดิมในปี 2508 ซึ่งไม่เอื้อประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้
.
ทั้งนี้ ความตกลงเดิมร่วมของทั้ง 2 ประเทศในปี 2543 นั้นเน้น ใน 7 เรื่องหลัก คือ 1.การเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 2.การลักลอบค้าสินค้าหนีภาษี 3.การฝึกร่วมผสมกับมาเลเซีย 4.การลาดตระเวนร่วม 5.การปักปันเขตแดน 6.การช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ และประเด็นสุดท้ายคือเรื่อง 7.อื่น ๆ ที่ ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นร่วม

โดยจากความร่วมมือนั้นได้กำหนดพื้นที่ชายแดน โดยระบุว่า 5 กิโลเมตรจากเส้นชายแดนเข้าไปในทั้ง 2 ประเทศ และทางทะเล 10 ไมล์ทะเลจากอาณาเขตทางทะเลซึ่งจะมีความตกลงร่วมกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ลึกเข้าไปซึ่งมีทั้งที่เกิดขึ้นในพื้น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  

ซึ่งปัญหาในขณะนี้นั้นขยายวงกว้างและทางการไทยจำเป็นต้องเจรจาและขอความร่วมมือจากทางการมาเลเซียเพื่อให้เกิดการแก้ไขและขอความร่วมมือร่วมกัน แม้ว่าจะเป็นปัญหาภายในประเทศของไทย แต่มาเลเซียถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก ซึ่งทางการไทยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากมาเลซีย ซึ่งจะมีการหารือเพื่อแก้ไขข้อตกลงในช่วงในเดือนหน้า

ตัดวงจร "แกนนำ-วัตุระเบิด" 

นอกจากนี้ แนวทางความร่วมมือในการแก้ไขข้อตกลงจะนำไปสู่การแก้ไขที่เป็นรูปธรรมก็คือ จากที่ผ่านมาวัตถุระเบิดที่ทางการไทยจับยึดได้มีทั้งที่ผลิตและจำหน่ายภายในประเทศมาเลเซีย ซึ่งทางการมาเลเซียอ้างว่าใช้ในเชิงพาณิชย์และอาจใช้ไม่หมดซึ่งนำไปสู่การลักลอบนำมาก่อเหตุในไทย

รวมไปถึงจุดสำคัญก็คือ การสร้างแนวร่วมโดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้วางแผน การฝึก การประกอบวัตถุระเบิด ซึ่งข้อมูลพบว่า แกนนำนั้นนั้นเป็นคนไทยที่ย้ายไปอาศัยอยู่ที่มาเลเซีย และได้สัญชาติมาเลเซียซึ่งยังคงมีแนวคิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการชี้นำอบรมให้แนวร่วมมาก่อการเหตุรุนแรงในประเทศไทย ซึ่งทางการมาเลเซียทราบในเรื่องดังกล่าวดี

โดยที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศยึดหลักความร่วมมือจากการออก “หมายจับ” แต่ "แกนนำ" นั้นมิใช่ผู้ที่มาก่อเหตุในไทย จึงยังคงยากต่อการออกหมายจับ หากแต่เป็นผู้ชี้นำจึงยังคงมีความจำเป็นต้องมีความร่วมมือจากมาเลเซียอย่างยิ่ง

ดังนั้น หากไทยได้รับความร่วมมือจากมาเลเซียจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการตัดวงจรของ "ผู้ชี้นำ" และ "ผู้พึ่งพิงหลัก" ซึ่งจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจของผู้ก่อเหตุ ซึ่งไทยจำเป็นต้องชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือดังกล่าวนั้นจะเกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ และจะนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

"3 เงื่อนไข" มาเลเซียปฏิเสธช่วยไทย 

นอกจากนี้ ในอดีตไทยได้เคยขอความร่วมมือไปยังมาเลเซีย ซึ่งยังคงมีปัญหาและไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรโดยมาเลเซียให้เหตุผลในการปฏิเสธความร่วมมือใน 3 ข้อคือ พรรคอัมโนจะถูกโจมตีจากพรรคฝ่ายค้านของรัฐบาลมาเลเซียและประชาชนว่าเหตุใดจึงมาสนับสนุนไทย โลกประเทศมุสลิมต่อต้าน และเหตุความไม่สงบเป็นเรื่องภายในของไทยจึงไม่ต้องการที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้  ในช่วงปี 2552 นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยและรับปากว่าจะร่วมแก้ปํญหาแต่สุดท้ายปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียยังขาดความจริงใจในการช่วยเหลือรัฐบาลไทยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ที่มาเลเซียยังคงมองว่า เห็นว่าเป็นปัญหาภายในของไทยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากมาเลเซียยังคงไม่ให้ความร่วมมือกับทางการไทยจะส่งผลให้การเปิดประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะสามเหลี่ยมเศรษฐกิจที่เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งหากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ยุติก็ยากที่จะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนได้

ปิดทางเจรจา "ผู้ก่อการร้าย"

ขณะที่ แนวทางการเจรจานั้น ทางฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่า จะไม่มีการเปิดเจรจากับผู้ก่อการร้ายซึ่งมีเจตนาแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใดไม่ว่าจะระดับใด ๆ ก็ตาม เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ผิดกฎหมายอยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ  ซึ่งหากจะเกิดขึ้นนั้นจะเป็นการพูดคุยกับผู้ที่มีแนวคิดแตกต่างจากฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น โดยรัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจ และจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งการเจรจานั้นมิใช่หน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง

โครงสร้างหน่วยงานแก้ไขปัญหาใต้ยังไม่สมบูรณ์

พล.อ.กนิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูแลปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2519 เป็นต้นมาก็พบว่ามีหลายหน่วยงาน อาทิ กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายใต้ภาคใต้ หรือ กอ.สสส.จชต.,กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 หรือ พตท.43 ซึ่งในอดีตรูปแบบของกองอำนวยการรักษาความสงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของผู้แทนจาก 20 กระทรวงซึ่งตั้งศูนย์การทำงานอยู่ในพื้นที่คือค่ายสิรินธร จ.ยะลา และทุกอย่างเป็นการรวมศูนย์ที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ

แต่ถึงกระนั้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบ และโครงสร้างต่าง ๆ ของหน่วยงานเหล่านี้ จนถึงปัจจุบัน พล.อ.อกนิษฐ์ ยอมรับว่า ยังคงไม่เรียบร้อยและเหมาะสมเพียงพอ ซึ่งรวมถึงรูปแบบของหน่วยงานล่าสุดอย่างศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.จชต.ซึ่งยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอและเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่

ทั้งนี้ ความตกลงร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซียว่าด้วยความร่วมมือชายแดนเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2508 ในยุคที่ชายแดนไทย-มาเลเซียมีการก่อการร้ายของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา หรือ จคม.โดยไทย-มาเลเซียตกลงร่วมกันว่า จคม.เป็นศัตรูร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ

ซึ่งจคม.เป็นขบวนการที่สร้างผลกระทบให้กับมาเลเซีย เนื่องจากต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของมาเลเซียให้เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้หลบหนีเข้ามายังชายแดนไทย ซึ่งไทยก็ได้ให้ความร่วมมือในการปราบปรามร่วมกันและแก้ไขความตกลงอีกครั้งในปี พ.ศ.2513 และ พ.ศ.2520 จนเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2522 พรรคคอมมิวนิสต์ได้ยุติการต่อสู้ และจคม.ได้เข้ารายงานเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและยุติการต่อสู้ทั้งหมด

ทั้งนี้ติดตามรายละเอียดการสัมภาษณ์ได้ในรายการ ตอบโจทย์ เวลา 21.30 น. คืนนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง