สิทธิการตายโดยสมัครใจยังมีคนไม่เห็นด้วย
แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 5 ปีที่กฎหมายสุขภาพแห่งชาติในมาตรา 12 จะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถลงนามในหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์ขอรับการบริการสาธารณสุขในระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นการแสดงซึ่งสิทธิในการเลือกตายโดยสมัครใจ เพื่อไม่ให้ภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาโรคตกเป็นภาระหนี้สินให้กับคนในครอบครัว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยเพราะยังมีความเชื่ออีกแบบหนึ่งอยู่
เอกสารฉบับนี้ ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ อดีตเลขาธิการแพทยสภาเขียนไว้เมื่อปี 2551 โดยบอกถึงเจตนาที่ไม่ประสงค์ขอรับบริการสาธารณสุข ด้วยสุขภาพที่ไม่มีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังใดๆ จึงระบุไว้อย่างชัดเจนว่าหากในอนาคตมีอาการสมองเสื่อม เกิดอุบัติเหตุจนเนื้อสมองถูกทำลาย เป็นอัมพาต ไร้สติสัมปะชัญญะ หรือป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย จะขอปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์เพื่อช่วยยื้อชีวิตทุกกรณี
แม้ผ่านมากว่า 5 ปี แต่ หมอวิฑูรย์ ยังคงเจตนารมย์เดิม เพราะเชื่อว่าต่อให้นำแนวทางการรักษาที่ทันสมัยแค่ไหนมายื้อชีวิตก็ไม่มีประโยชน์ ฝืนธรรมชาติ ทั้งยังเป็นการทรมานตัวเอง และคนดูแล
เช่นเดียวกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.มงคล ณ สงขลา ที่ระบุไว้ในหนังสืออย่างชัดเจนว่าขอปฏิเสธการรักษาเพื่อกลับมาชีวิตอีกครั้ง หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเสียชีวิตอย่างแน่นอน เจตจำนงนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติปี 2550 มาตรา 12 ที่ให้บุคคลมีสิทธิแสดงเจตนาไม่รับบริการทางการแพทย์ เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้าย ซึ่งรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า 5 ปีที่กฎหมายมาตรา 12 บังคับใช้ช่วยให้ประชาชนมีสิทธิกำหนดชีวิตของตัวเองมากขึ้น
นพ.อุกฤษฏ์ ยอมรับว่าประชาชนบางส่วนยังเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในสาระของกฎหมายนี้ โดยเฉพาะญาติผู้ป่วย แต่เชื่อว่าหากได้รับการสื่อสารจากแพทย์ ได้ดูแลผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ขณะที่สมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการด้านกฎหมายมองว่าการให้ข้อมูลที่ถูกต้องถึงเนื้อหาสาระของกฎหมายมาตรา 12 ยังคงมีความจำเป็น เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ประชาชนรู้จักทางเลือกเพื่อให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นคนที่รัก และเคารพ จากไปอย่างสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต
ทั้งนี้ มุมมองด้านกฎหมายยังเป็นห่วงว่าการสื่อสารของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขว่าไม่ควรชี้นำเร่งรัดการแสดงเจตจำนงการรักษาให้กับผู้ป่วยและญาติ เพราะอาจเข้าใจผิดได้ว่าเป็นการผลักภาระการรักษา ซึ่งจะส่งผลไปสู่การฟ้องร้องภายหลังได้