วิศวกรรมสถานฯ ชี้รัฐบาล
รศ.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานอนุกรรมการ สาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังเห็นรายชื่อบริษัทที่ผ่านเกณฑ์รอบแรกว่า เป็นไปตามสันนิษฐานว่า น่าจะมีการล็อคสเป็ก เพราะ ทีโออาร์กำหนดการดำเนินงานแบบรวบรัด และบริษัทที่ได้ ล้วนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ใกล้ชิดพรรคการเมือง
สำหรับบริษัทที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติรอบแรก 27 บริษัท อนุคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เปิดโอกาสให้อุทธรณ์จนถึงพรุ่งนี้(21 ก.ย.) แต่ไม่เปิดรับเอกสารคุณสมบัติเพิ่มเติม
ขณะที่จิรโรจน์ ปิยะภรณ์พงศ์ ตัวแทนกิจการร่วมค้า วอร์เตอร์ สยาม ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ บอกว่า ทีโออาร์ สร้างความสับสน ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ตกรอบ และรัฐเสียโอกาสพิจารณากรอบแนวคิดจัดการน้ำ
ขั้นตอนจากนี้ คณะกรรมการจะเชิญบริษัทที่ผ่านเกณฑ์รอบแรก ยื่นเอกสารแสดงกรอบแนวคิดฉบับย่อ พร้อมนำเสนอเทคนิค เวลา และราคาก่อสร้างเบื้องต้น ในวันจันทร์(24 ก.ย.) ก่อนให้เวลาจัดทำกรอบแนวคิดฉบับสมบูรณ์ 2 เดือน คาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรี ในเดือนมีนาคม ปีหน้า
ทั้งนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ รอง ปธ.คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ระบุว่าคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ 350,000 ล้านบาท ได้ประกาศรายชื่อบริษัทผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเบื้องต้น 7 บริษัท จากทั้งหมด 34 บริษัท ซึ่งมีทั้งบริษัทไทย จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น