ยังคงเจอปัญหารอบด้านสำหรับการส่งออกข้าวไทยในปี 2568 หลังจากอินเดียกลับมาประกาศส่งออกข้าวขาวอีกครั้งในรอบเกือบ 2 ปี ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศไม่สดใส ที่เริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงกลางปีที่แล้ว ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 25% เคยขายได้มากกว่าตันละ 10,000 บาท ปัจจุบันหล่นลงมาเหลือตันละ 7,000-8,000 บาท ในขณะที่ตลาดต่างประเทศต้องแข่งกับราคาข้าวของประเทศคู่แข่งที่ถูกว่าข้าวไทย 30-40 เหรียญต่อตัน ไม่นับรวมอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ถือเป็นความท้าทายอีกครั้งของข้าวไทย
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์ กับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ถึง สถานการณ์ข้าวไทยปี 2568 ว่า “เหนื่อย” ทั้งผู้ส่งออก ชาวนา โรงสี เพราะต้องเผชิญกับปัจจัยรอบด้าน ทั้ง ปริมาณผลผลิตทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เป็นใจ ส่งผลให้กดดันราคาข้าวในตลาดโลกเกิดความผันผวน การแข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้น ดังนั้นไทยต้องบริหารจัดการสต็อกข้าวให้ดี
โดยข้าวส่วนเพิ่มในปี 2568 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 34 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 22 ล้านตันข้าวสาร จากปกติผลผลิตจะเฉลี่ยที่ 31-32 ล้านตันข้าวสาร เมื่อแบ่งเป็นบริโภคในประเทศ 11 ล้านตันข้าวสารรวมเมล็ดพันธุ์ พบว่าปี 2568 ไทยมีปริมาณข้าวมากกว่าความต้องการในประเทศสูงถึง 11 ล้านตัน
ผลผลิตจากข้าวนาปีที่ให้ผลดี โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่สภาพอากาศเป็นใจทำให้ปริมาณและคุณภาพดีตามไปด้วย น้ำในเขื่อนมีปริมาณจุเกินกว่า 80% คาดว่าผลผลิตนาปรังจะดีด้วย
ส่งออกข้าวไทย 68 หืดจับ ฟันธง“ราคา” ปัจจัยหลัก
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า ปี 2568 ประเทศไทยต้องทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยที่สำคัญสุด คือ “ราคา” ปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง คือ ค่าเงินที่ผันผวน เพราะหากบาทอ่อนขีดความสามารถในการแข่งขันจะมากขึ้น เพราะทุก 1 บาท จะกระทบราคาข้าว 15-16 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขึ้นกับว่าบาทจะอ่อนหรือแข็งค่า ถ้าบาทแข็งต้องโค้ดราคาขึ้น อีก 15-16ดอลลาร์ สำหรับ “ข้าวขาว”
ขณะที่ราคาข้าวในประเทศไทยยังได้อานิสงค์จาก “อินเดีย” ที่แบนการส่งออกทำให้ตลาดข้าวของอินเดีย แชร์มาที่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน และเมียนมา ส่งผลให้ราคาข้าวสารขาวในประเทศที่ผ่านมาสูงแตะ 26,000 บาท แต่ปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยที่ 15,000 บาทต่อตัน สาเหตุเพราะอินเดียกลับมาส่งออกอีกครั้ง
ปี 2567 คาดว่าจะส่งออกได้ 9 ล้านตัน ได้ปัจจัยบวกจาก เอลนีโญ และ อินเดียแบนส่งออก และหลายประเทศผลผลิตลดลง ประกอบกับตลาดอินโดนีเซียมีการนำเข้าข้าวมากถึง 4 ล้านตันเป็นการนำเข้าจากไทย 5 ล้านตัน และที่เหลือจากเวียดนาม ปากีสถานและเมียนมา
ขณะที่ปี 2568 หลังจากที่อินเดียกลับมาส่งออกเต็มรูปแบบ
สิ่งที่ต้องมองไปข้างหน้า คือ อินเดียจะทวงคืนส่วนแบ่งตลาดที่หายไปกลับมา และเนื่องจากข้าวอินเดียมีราคา เฉลี่ย 440 ดอลลาร์ฯต่อตัน (ราคาFOB) โดยที่ข้าวไทยอยู่ที่ 480 ดอลลาร์ฯต่อตันห่างกัน40-50 ดอลลาร์ฯต่อตัน ซึ่งลูกค้าที่ซื้อข้าวไทยอาจกลับไปซื้อข้าวอินเดีย
อินเดีย เป็นเจ้าตลาดข้าว 5 ล้านตัน ไทยได้ส่วนแบ่ง 2 ล้านตัน ดังนั้น ปี2568 หากอินเดียทวงคืน 2 ล้านตันกลับส่งผลให้การส่งออกข้าวปีหน้าไทย อยู่ที่ 7 ล้านตัน เพราะปีหน้า คาดว่าอินเดียจะมีผลผลิตสูงถึง 142 ล้านตันข้าวสาร นับว่าสูงสุดเป็นประวิติการณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่อินเดียจะรุกส่งออกหนัก
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
สต็อกข้าวโลก พุ่งกว่า 182 ล้านตัน
นายกกิตติมศักดิ์ ยังกล่าวถึง สถานการณ์ข้าวของโลก ว่า ข้อมูลจาก USDA ระบุว่า ปี2568 การผลิตข้าวของทั้งโลกเพิ่มขึ้นทั้งผลผลิต การบริโภค และการค้าข้าว โดยด้านการผลิตโลก มีปริมาณ 530.44 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 1.7% เทียบกับปี2567 ที่มีปริมาณผลผลิต 521.52 ล้านตันข้าวสาร เป็นการบริโภคเพิ่มขึ้น 1.3% หรือ 528.07 ล้านตันข้าวสาร และการค้าโลกเพิ่มขึ้น 0.03% หรือ 56.31 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งจากปริมาณดังกล่าวส่งผลให้โลกมีสต็อกข้าวเพิ่มขึ้น 1.3%เทียบกับปี2567 โดยมีปริมาณ 182.19 ล้านตันข้าวสาร
ทั้งนี้หากแบ่งเป็นสต็อกข้าวของประเทศสำคัญ พบว่า จีนยังคงเป็นประเทศที่มีสต็อกข้าวมากที่สุด และเพิ่มขึ้นจากปี2567 โดยมีปริมาณ 14 ล้านตันข้าวสาร รองมาเป็น อินเดีย 43 ล้านตันข้าวสาร , อินโดนีเซีย แม้ว่าสต็อกข้าวที่ลดลง 18.1% จาก 5.52 ล้านตันข้าวสาร เหลือ 4.52 ล้านตันข้าวสาร แต่อินโดนีเซียยังคงมีสต็อกข้าวเป็นเบอร์ 3 ของโลก นอกจากนี้ยังมี ฟิลิปปินส์ ปริมาณ 3.70 ล้านตันข้าวสาร ,ปากีสถาน ปริมาณ 2 ล้านตันข้าวสารส่วน ไทย อยู่อันดับ 5 ที่มีการคาดว่าจะมีปริมาณสต็อกข้าว2.85 ล้านตันข้าวสาร
ส่วนการผลิตข้าวโลก จีนยังคงเป็นเบอร์หนึ่งที่มีผลผลิตข้าวมากที่สุด 146 ล้านตันข้าวสาร รองลงมาเป็น อินเดีย มีผลผลิต 142 ล้านตันข้าวสาร, บังกาลาเทศ มีผลผลิตเป็นอันดับ 3 ที่ 37.30 ล้านตันข้าวสาร ,อินโดนีเซียมีผลผลิต 34 ล้านตันข้าวสาร ,เวียดนามแม้ว่าผลผลิตจะลดลงเหลือ 26.50 ล้านตันข้าวสาร แต่สูงกว่าไทยที่มีผลผลิต 20.10 ล้านตันข้าวสาร
สถานการณ์ปีหน้าดูแล้วมีปัจจัยลบมาก สิ่งที่จะช่วยได้ คือ ค่าเงินบาท หากอ่อนค่าและมีเสถียรภาพอาจทำให้การส่งออกสู้กับคู่แข่งได้คาดกว่าการส่งออกปี 2568 น่าจะมากกว่า 7 ล้านตัน
เกษตรกร ปลูกพืชอื่นทดแทน ลดพื้นที่ปลูกข้าว
สำหรับผลผลิตข้าวของไทย ปีการเพาะปลูก 2567/2568 ข้าวนาปี มีพื้นที่เพาะปลูก 62 ล้านไร่ ซึ่งลดลงจากปีก่อน78,432 ไร่ หรือ 0.13% เนื้อที่เกี่ยว 60.280 ล้านไร่ ลดลง 7,686 ไร่หรือ 0.01% มีผลผลิต 27 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 72,959 ตันข้าวเปลือก หรือ 0.27% ให้ผลผลิตต่อเนื้อที่ปลูก 435 กก.ต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1กก.ต่อไร่ หรือ 0.23% มีผลผลิตเนื้อที่เก็บเกี่ยว 448 กก.ต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1กก.ต่อไร่ หรือ 0.22%
ทั้งนี้เนื้อที่เพาะปลูกที่ลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานที่มีการส่งเสริมจากโรงงานน้ำตาล และเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังโรงงานในพื้นที่นาดอนในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกที่ฝนมาล่าช้าทำให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมันที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทั้งนี้พื้นที่ปลูกที่ลดลงถือว่ายังไม่มากเนื่องจากราคาข้าวยังจูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกไปยังพื้นที่ปล่อยว่าง
ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทำให้เพียงต่อการเติบโตของต้นข้าวส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตข้าวทั้งประเทศเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชี้ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกลดลงจากปีก่อน เนื่องจากบางพื้นที่เกษตรกรได้มีการปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นจ. นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และบางส่วนหันไปปลูกมันสำปะหลังในนาดอน เช่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุดรธานี ยโสธร อย่างไรก็ตามแม้ว่าเกษตรกรจะปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอื่น แต่พื้นที่ด้วยราคาข้าวที่ดียังคงจูงใจให้เกษตรกรปลูกข้าวเพิ่มขึ้นส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น 13.412 ล้านตันข้าวเปลือก
จากการสอบถามชาวนาในพื้นที่จ.อุบลราชธานี บอกว่า ราคาข้าวเปลือกตอนนี้ถือว่าดี แต่ก็ไม่สูงเท่ากับช่วงที่อินเดียแบนการส่งออกข้าว ซึ่งถ้าเทียบกับต้นทุนการปลูกยังถือว่าไม่เพียงพอ ซึ่งอยากให้รัฐบาลได้โครงการไร่ละ 1,000 บาท เหมือนเดิม
รับมือ อินเดีย ทวงคืนตลาด “ข้าวขาว”
นายวันนิวัต กิติเรียงลาภ รองเลขาธิการ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปีหน้าอินเดียจะกลับมาทวงคืนตลาดข้าวขาว ซึ่งเป็นตลาดขาวที่ใหญ่ของไทย ดังนั้น ปี 2568 คาดการณ์การส่งออกข้าวจะมีปริมาณ 7 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวขาว 3-3.5 ล้านตัน และกลุ่มข้าวนึ่ง 1.5 ล้านตัน รวมประมาณ 5 ล้านตัน และเมื่อรวมข้าวหอมมะลิ 1.3 ล้านตัน ข้าวหอมปทุม 3.6 แสนตัน และข้าวเหนียว 1.4-1.7 แสนตัน
ไทยต้องวางแผนที่จะส่งออกข้าวพื้นที่นุ่น 3-4 แสนตันไปในตลาดฟิลิปปินส์ , และมาเลเซีย หากทำได้จะทำให้ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยมีปริมาณที่สูงขึ้นได้
สำหรับการส่งออกข้าวเดือนม.ค.-ก.ย.2567 มีปริมาณ 7,448,941 ตัน เพิ่มขึ้น 22%มูลค่า172,019.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46 % เป็นสัญญาณที่ดีว่าการส่งออกข้าวของไทยปี 2567 น่าจะแตะ 9 ล้านตัน ส่งต่อมาถึงราคาข้าวในประเทศที่ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยข้าวเปลือกเจ้า(ความชื้น15%) จ.อยุธยา ตันละ 9,500-9,900 บาท ส่วนข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ (67/68) จ.บุรีรัมย์ ตันละ 14,200-14,700 บาท
นาย สมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ผู้บริโภคอุ่นใจ ข้าวถุงยังไม่ปรับราคา
นายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกและข้าวสารจะปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ข้าวถุงไม่มีการปรับราคา เพราะตลาดมีการแข่งขันสูง และช่วงที่ผ่านมามีการเปิดตลาดข้าวใหม่ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม “ข้าวหอม”เป็นการผสมระหว่างข้าวขาวกับข้าวหอมมะลิ ซึ่งผู้บริโภคให้การตอบรับเพราะเป็นกลุ่มข้าวนุ่มที่มีคุณภาพ แต่ราคาไม่สูงเท่าข้าวหอมมะลิ
“ราคายังเป็นปัจจัยสำคัญเพราะกำลังซื้อผู้บริโภคยังทรงตัว ทำให้ตลาดข้าวหอมยังสามารถเติบโตได้ ส่วนข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ การแข่งขันยังสูง การปรับราคาจึงไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจข้าวถึงตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปีหน้า”
อ่านข่าว:
ถึงเวลา ? ชาวนาไทยปรับตัวรับเทรนด์โลก ผลิต "ข้าว"คาร์บอนต่ำ
บอร์ด กอน.ไฟเขียวเปิดหีบอ้อย ปี 67/68 เริ่ม 6 ธ.ค. นี้
กระทรวงเกษตรฯ เคาะช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่