เเม้ชีวิตจะสุขสบายขึ้น เเต่ก็ไร้ความสุขเมื่อขาดอิสรภาพ ทุกข์ในใจของคนเเคระ ที่ถูกเศรษฐีนำตัวมากักขัง เลี้ยงดูอย่างดี นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับชายหนุ่มที่เพิ่งสูญเสียภรรยาเเละศิลปินสาวผู้คาดหวังความสำเร็จจากการสร้างงานศิลปะ ทั้งหมดสนุกกับกิจกรรม ท้าทายกฎหมายที่นำตัวคนเเคระมากักขัง เพื่อสนองความต้องการของตน นี่คือเรื่องราวในนวนิยายคนเเคระ ที่วิภาส ศรีทอง นำผู้อ่านไปค้นปมในใจมนุษย์ ซึ่งเปรียบเทียบเหมือนกรงขัง กดดันให้เเต่ละคนทำเรื่องวิปริตได้ในท้ายที่สุด
เมื่อ 10 ปีที่เเล้ว "วิภาส ศรีทอง" ได้เเนวคิดเขียนเรื่องนี้โดยบังเอิญเมื่อได้พูดคุยกับคนเเคระ พบว่าบางสิ่งที่คู่สนทนากลัวที่สุด คือ การถูกลักพาตัว เเรกเริ่มคิดชวนไปทำหนังสั้น เเต่สุดท้ายนำพล็อตที่ได้มาเขียนหนังสือ กว่า 2 ปีจึงได้ผลงานนวนิยายเรื่องเเรกในชีวิต ที่สะท้อนภาพสังคม
นอกจากนี้ จุดเด่นอีกจุดหนึ่งของนวนิยายเรื่องคนแคระ คือ สันปกหนังสือที่มีสีดำ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านมีสีดำติดไม้ติดมือกลับไปบ้าง เป็นจุดประสงค์ของสำนักพิมพ์ ที่ตั้งใจออกแบบให้เข้ากับเนื้อหาในหนังสือ ซึ่งก็คือการสะท้อนด้านมืดในจิตใจมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์งานเขียน ที่เติบโตจากเรื่องสั้นมาก่อน ยังทำให้วิภาส ศรีทอง คุ้นเคยกับการวางโครงเรื่องให้แปลกใหม่ และต่อยอดเนื้อหาให้ยาวขึ้น ในรูปแบบนวนิยายแนวทดลองเล่มแรก
"วรรณกรรมไทยไม่ค่อยมีวรรณกรรมที่บรรยายทางอารมณ์ทางความคิด ส่วนใหญ่เราจะเล่าเรื่องด้วยไดอะล็อก ด้วยบทสนทนา ผมเลยอยากลองอะไรตรงนี้ดู และการเขียนด้านมืดของมนุษย์ ทำให้เรามองเห็นความซับซ้อนของมนุษย์ได้ดีกว่าด้านสว่าง ซึ่งผมเชื่ออย่างนั้น" วิภาส ศรีทอง กล่าว
4 ปีที่หายไป กลับมาใหม่ด้วยการพาผลงานนวนิยายเรื่องเเรกเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ เป็นอีกก้าวที่มาไกลเกินคิดไว้ เเต่สิ่งที่ผู้เขียนกลับเห็นว่าเป็นรางวัล คือ คำวิจารณ์ที่ทำให้เกิดการพัฒนา ทั้งการที่ได้พาผู้อ่านเดินทางไปกับจินตนาการ การเดินเรื่องที่เกินคาดเดาเป็นอีกความเเปลกน่าสนใจ ที่เพิ่มเสน่ห์ให้กับงานเขียนเล่มนี้