น้ำท่วมภาคเหนือ-ตะวันออก เริ่มลดระดับลง

ภูมิภาค
26 ก.ย. 55
02:27
25
Logo Thai PBS
น้ำท่วมภาคเหนือ-ตะวันออก เริ่มลดระดับลง

น้ำที่ท่วมขังในหลายจังหวัดภาคเหนือและ ภาคตะวันออก เริ่มลดระดับลง ทำให้ชาวบ้านเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในพื้นที่ลุ่มต่ำยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำที่ท่วมสูง

ชาวบ้านเขตเทศบาลตำบลศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ยังคงต้องใช้รถขนาดใหญ่ที่เจ้าหน้าที่นำมาให้บริการ ในการเดินทางเข้าออก หลังจากที่น้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งรับน้ำมาจาก จังหวัดสระแก้ว ได้เอ่อล้นเข้าท่วมชุมชน และ ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 5 ซม. เนื่องจากยังมีน้ำไหลมาสมทบ

แต่ที่บริเวณเขตเทศบาลตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี ระดับน้ำค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ โดยเมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) ระดับน้ำลดลงไปกว่า 10 ซม.ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย แต่ชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำปราจีนบุรี ยังถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 ม.

ส่วนที่จังหวัดพิษณุโลก ชาวบ้านในอำเภอบางระกำ ยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางน้ำที่ท่วมสูง แม้ว่าล่าสุด ที่สถานีวัดระดับน้ำ Y16 ด้านหลังที่ว่าการอำเภอบางระกำ ระดับน้ำจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยชั่วโมงละ 5 มม.แต่ระดับน้ำยังเหลืออยู่ที่ 8.96 ม.

ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนในตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ยังคงอาศัยเพิงพักชั่วคราว หลังระดับน้ำในแม่น้ำยมยังคงล้นตลิ่ง ไหลท่วมชุมชนมานานกว่า 2 สัปดาห์ ชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางเข้าออก

ส่วนจังหวัดนครสวรรค์มีพื้นที่ประสบอุทกภัยในเขตอำเภอชุมแสง และอำเภอเมือง ซึ่งชลประทานจังหวัดระบุว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะสามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่านได้ แต่ให้เฝ้าระวังฝนตกหนักในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ รวมทั้งมวลน้ำจากจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร ที่จะไหลมาสมทบอีกระลอก

หลายโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โรงเรียนหลายแห่งยังไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ เพราะอุปกรณ์ และตำราเรียนส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้บางแห่งครูและนักเรียนต้องช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียนและอาคารที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมด้วย

ขณะที่ สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่อเค้ารุนแรงเนื่องจากปริมาณน้ำฝนตกไม่ทั่วฟ้า ส่งผลให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติแห้งขอด โดยที่เขื่อนลำปาวขณะนี้มีปริมาณน้ำในระดับใช้การอยู่ที่ 409 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งยังมีการระบายน้ำลงคลองชลประทานเพื่อหล่อเลี้ยงนาข้าวใน 5 อำเภอวันละ 6 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนถนนเลียบแม่น้ำน้อย ช่วงตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่ทรุดตัวมานานถึง 4 เดือน หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว (2554) ก็ทำให้ชาวบ้านออกมาเรียกร้องให้ทางจังหวัดเร่งแก้ไข เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีผู้ประสบอุบัติตกถนน บริเวณนี้แล้วหลายราย ขณะเดียวกันก็วิตกกังวลว่า หากระดับน้ำท่วมสูงกว่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อตัวถนนได้

ขณะที่บางพื้นที่ภาคใต้มีคลื่นลมแรง ทำให้ชาวประมงในตำบลเกาะสาหร่าย ตำบลเกาะปูยู และตำบลตำมะลัง อำเภอเมืองจังหวัดสตูล ไม่สามารถนำเรือออกหาปลาได้ เพราะเกรงว่า เรือประมง จะถูกคลื่นซัดกับโขดหินพังเสียหาย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง