ศิลปินแห่งชาติ เผย อยากมีพื้นที่เก็บหนังสือเก่า ช่วยสะท้อนสังคมไทยในแต่ละยุค
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพชร ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวในงานสนทนาวิชาการ เรื่อง "เล่าความหลัง หนังสือเก่าชาวสยาม นิตยสารแห่งทศวรรษ" ว่า ก่อนหน้านี้ทางศูนย์ฯ ได้มีการหนังสือเก่า หนังสือพิมพ์เก่าที่ไม่มีปัญหาในเรื่องของลิขสิทธิ์ มาจัดทำในรูปแบบของไฟล์ดิจิตอล เนื่องจากมีหนังสือหลายเล่มที่มีสภาพชำรุด และบอบบาง ซึ่งอาจเสียหายหากมีการจับต้องได้ และเผยแพร่ในเว็บไซต์ เพื่อต้องการให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาได้ นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องการอนุรักษ์หนังสือไทยในสมัยนั้น ๆ เพื่อให้ทุกคนรับรู้ถึงความเป็นสังคมไทยในแต่ละช่วงเวลา
ทั้งนี้ การเสวนามี 2 หัวข้อ ได้แก่ เรื่อง เล่าเรื่องหนังสือพิมพ์ และนิตยสารเก่าของไทย โดยอาจารย์สมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2553 กล่าวถึงความยากลำบากในการอ่านหนังสือในสมัยสงคราม เนื่องจากสมัยนั้นกระดาษมีราคาแพง และหายาก แต่แนวการเขียนมีความแตกต่างจากเดิม คือ มีความหลากหลายและแปลกใหม่มากขึ้น เนื่องจากนักเขียนหลายคนต้องหนีสงครามไปต่างจังหวัด ทำให้มีไอเดีย และมีแนวคิดใหม่ ๆ ในการสร้างเรื่องราว ทั้งนี้ นิตยสาร และหนังสือหลายเล่มที่ตนเก็บรักษาไว้นั้น ต้องเสียหายไปในช่วงที่น้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา
ด้านอาจารย์สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์เมื่อปี พ.ศ. 2554 กล่าวถึงรายชื่อของหนังสือพิมพ์ หนังสือ และนิตยสารในช่วงระยะเวลา 1 ศตษวรรษที่ผ่านมา และชี้ให้เห็นว่าต้องการให้มีพื้นที่เก็บรักษาหนังสือเก่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงยุคไหนก็ตาม ให้เป็นระบบ เพราะเห็นว่า งานเขียนในแต่ละช่วงเวลาสามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่าสังคมในขณะนั้นเป็นอย่างไร และงานเขียนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ขณะที่การสนทนาวิชาการในหัวข้อที่ 2 คือ หนังสือและนิตยสารหายาก : หลักฐานประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ซึ่งมีนายไกรฤกษ์ นานา และนายธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ได้เล่าถึงความเป็นในการค้นคว้าหาประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ผ่านหนังสือเก่าในสมัยก่อน รวมไปถึงแผนที่ภาพพิมพ์เก่าที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยด้วย