วันนี้ (26 พ.ย.2567) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. และโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า กระแสข่าวในสื่อโซเชียลมีเดียที่ระบุ สปสช.จะยกเลิกนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 นั้น "ไม่เป็นความจริง"
ผู้ป่วยโรคมะเร็งยังคงสามารถรับบริการที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็งได้เหมือนเดิม โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ สปสช.จะปรับเงื่อนไขการเบิกจ่าย โดยจำกัดเฉพาะการรักษาโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การให้เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือ การรังสีรักษา ส่วนการรักษาโรคแทรกซ้อน โรคร่วม หรือการตรวจสอบโรค (investigation) จะไม่ได้รับการเบิกจ่ายจากกองทุนนี้
เหตุผลสำคัญที่ต้องปรับเงื่อนไขการเบิกจ่ายมาจากข้อมูลที่พบว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการ Cancer Anywhere ที่ผ่านมา มีการใช้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็ง เช่น ค่าตรวจโรคทั่วไปหรือการรักษาโรคอื่น ๆ ที่ไม่สัมพันธ์กับโรคมะเร็ง มากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความซ้ำซ้อนและใช้งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สปสช.ได้แจ้งเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงไปยังหน่วยบริการตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2567 แต่ยังพบข้อกังวลจากหน่วยบริการว่า อาจกระทบต่อความสะดวกของผู้ป่วยและเพิ่มขั้นตอนในการให้บริการ ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงเตรียมจัดประชุมร่วมกับหน่วยบริการในระบบ Cancer Anywhere เพื่อทบทวนเงื่อนไขการเบิกจ่ายและรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้งบประมาณและการดูแลผู้ป่วย
เราไม่ได้ยกเลิกมะเร็งรักษาทุกที่ ผู้ป่วยยังสามารถเข้ารับบริการได้ตามเดิมโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือเงื่อนไขการเบิกจ่ายเท่านั้น
ทั้งนี้ ทพ.อรรถพร ยังกว่างถึงการปรับปรุงครั้งนี้ คำนึงถึงทั้งประสิทธิภาพการใช้งบประมาณและความสะดวกของผู้ป่วยเป็นหลัก จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไป โดย สปสช.มุ่งมั่นที่จะทำให้นโยบายนี้ดำเนินการต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
อ่านข่าวอื่น :