ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ผู้ส่งออก" หนุนยื่นตีความ "โครงการรับจำข้าว" ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เศรษฐกิจ
27 ก.ย. 55
14:01
46
Logo Thai PBS
"ผู้ส่งออก" หนุนยื่นตีความ "โครงการรับจำข้าว" ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงของรัฐบาลสร้างความกังวลให้กับหลายภาคส่วนที่มองว่า ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า แม้ชาวนาขายข้าวได้ราคาเพิ่มแต่เป็นการทำลายกลไกการค้ารวมถึงอุตสาหกรรมข้าวไทย ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มไทยจะหลุดจากการเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก

 

<"">
 
<"">

แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และ พบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวมาเป็นระยะ ตั้งแต่เริ่มการรับจำนำ แต่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าโครงการรับจำนำต่อในวันที่ 1 ตุ.ค.นี้ โดยตั้งวงเงินไว้อีก 450,000 ล้านบาททำให้นักวิชาการบางส่วนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านขออำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาล้มโครงการข้าว

รศ.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า นำรายชื่อนักวิชาการจากนิด้ารวมทั้งนักศึกษา และ นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งหมด 146 คน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณายุติ หรือ ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่า กระทำของรัฐบาลขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 84 วงเล็บ 1 ที่รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรี

นักวิชาการ เห็นว่า รัฐบาลผูกขาดตลาดข้าวโดยรับซื้อราคาสูงกว่าราคาตลาดร้อยละ 50 ทำให้เกษตรไม่มาไถ่ถอน ขณะที่รัฐบาลกลายเป็นพ่อค้ารับซื้อข้าว และ ระบายข้าวรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งเป็นการทำลายกลไกตลาดการค้าเสรี เพราะรัฐผูกขาดการค้า พร้อมเสนอให้รัฐเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ โดยรับซื้อข้าวต่ำกว่าราคาตลาด และ กำหนดปริมาณที่ 25 ตัน หรือ วงเงิน 350,000 บาทต่อเกษตรกร 1 ราย

นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของนักวิชาการ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ส่งออกข้าวได้รับผลกระทบจากยอดส่งออกที่ลดลง เพราะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 กันยายน นายปราโมทย์ วานิชานนท์ อดีตกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายศรีราชา เจริญพาณิช ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวด้วยเช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง