จับตา ปรับครม.หลัง
การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง นายยงยุทธ กล่าวยอมรับว่า เงื่อนไขสำคัญคือความเคลือบแคลงสงสัยในข้อกฎหมาย ที่ว่าด้วยคุณสมบัติการเป็น ส.ส.และความเป็นรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยปฏิเสธแรงกดดันใด ๆ โดยเฉพาะจากบุคคลภายในพรรคเพื่อไทยหรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.
แม้จะยืนยันว่าเป็นผู้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองด้วยตนเอง แต่บริบทรอบข้างระหว่างการแถลงลาออกกลายเป็นข้อสังเกตว่า มีทั้งรัฐมนตรีในกลุ่ม นปช. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากกลุ่ม นปช. หรือแม้แต่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ก็มาร่วมหารือและร่วมยืนยันการลาออกด้วย
สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ ว่ากลุ่ม นปช.เตรียมยื่นหนังสือทวงถามมาตรฐานทางการเมืองและข้อเสนอให้"ลาออก" ตลอดจนการประชุมพรรคเพื่อไทย ที่มีรายงานว่า ส.ส.หลายคนย้ำถึงข้อกังวลในปัญหาที่จะตามมา หากการตีความกฎหมายในที่สุดแล้ว นายยงยุทธ อาจไม่เข้าข่ายได้รับการล้างมลทิน
แต่โดยข้อเท็จจริงที่ถูกเปิดเผยออกมา นายยงยุทธ ระบุถึงเหตุผลของการตัดสินใจ เพราะสังคมเคลือบแคลงสงสัยในคุณสมบัติการเป็นส.ส.และความเป็นรัฐมนตรี จึงขอยุติบทบาทและรอการความเห็นจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งระหว่างนี้ยังคงทำหน้าที่ "หัวหน้าพรรคเพื่อไทย" และ "ส.ส."ต่อไป
การลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองของนายยงยุทธ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่จะมีการปรับ ครม.ในทันทีหรือมอบหมายให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนไปก่อน แล้วจะปรับ ครม ในคราวเดียว หลังแถลงผลงานต่อรัฐสภาในต้นเดือน ต.ค.นี้ ยังคงต้องขึ้นอยู่กับการดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี
แต่กรณีความผิดเกี่ยวกับที่ดินอัลไพน์นั้น ป.ป.ช. และ อ.กพ.ชี้มูลเหมือนกัน คือ นายยงยุทธ ในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทำผิดวินัยร้ายแรง เนื่องจากมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน จนกลายเป็นผลรับรองการซื้อขายที่ดินอัลไพน์ถูกต้อง แทนที่จะเป็นธรณีสงฆ์
เมื่อสังเกตจาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ที่ประกาศใช้ปี 2526 จะเห็นว่า มาตรา 5 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่ผู้ถูกลงโทษทางวินัย ,ผู้ถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ และผู้กระทำผิดที่ได้รับการนิรโทษกรรม ก่อนหรือในวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับการสอบสวนทางวินัยแล้วหรือไม่ก็ตาม
หากตีความจากกฎหมายล้างมลทินฉบับในอดีตนายยงยุทธ อาจเข้าข่ายได้รับการล้างมลทิน เพราะคำสั่งลงโทษมีผลย้อนหลัง แต่เนื้อความและสาระสำคัญ รวมถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายล้างมลทิน ทั้งฉบับที่ประกาศใช้ ในปี 2530 และ ปี 2550 กลับมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะในมาตรา 5 กำหนดให้ผู้ได้รับการล้างมลทิน จะต้องได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนก่อน
ซึ่งก่อนหน้านี้แม้จะมีคำแนะนำจากกฤษฎีกาว่า เข้าข่ายได้รับการล้างมลทินแล้ว แต่ไม่เพียงนายยงยุทธเท่านั้น บุคคลในรัฐบาลหลายคนก็ไม่สามารถชี้แจงข้อกฎหมาย หลังถูกถามถึงความต่างของกฎหมายล้างมลทิน ระหว่างฉบับในอดีตกับฉบับล่าสุด