ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ชาวมอญ"ร้องนักเขียนรับผิดชอบต่อกรณีเนื้อหาในนวนิยายไม่เหมาะสม

Logo Thai PBS
"ชาวมอญ"ร้องนักเขียนรับผิดชอบต่อกรณีเนื้อหาในนวนิยายไม่เหมาะสม

กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงวรรณกรรมเมื่อโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า 1 ใน นวนิยายเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ปีนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวไทยเชื้อสายมอญ และชาวมอญในพม่าส่วนหนึ่ง เนื่องจากนำสัญลักษณ์หงส์ของชนชาติมอญไปใช้เป็นลายผ้าถุงของเด็กหญิงกะเหรี่ยง โดยร่วมกันลงชื่อถึงนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบต่อกรณีเนื้อหาในนวนิยายไม่เหมาะสม

"แต่ก่อนทุกที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเลวร้ายไปกว่านั้น พอทูก็ตั้งสติกำราบเชื้อร้าย เช็ดหลังมือกับผ้าถุงลายหงส์กำลังร่อนบินไปสู่ดวงดาวห้าแฉก" ข้อความหนึ่งจากหน้า 181 ของนวนิยาย"โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า" ผลงานศิริวร แก้วกาญจน์ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวไทยเชื้อสายมอญ และชาวมอญในพม่าส่วนหนึ่ง เนื่องจากนำหงส์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชนชาติมอญไปใช้เป็นลายผ้าถุงของเด็กผู้หญิงกะเหรี่ยง ยังมีข้อมูลบางส่วนจากนวนิยายเรื่องนี้คลาดเคลื่อนไปจาก ความเป็นจริงทั้งที่เกี่ยวกับพื้นที่และชาติพันธุ์ จนมีการทำจดหมายเปิดผนึกในนามสมาคมไทยรามัญถึงสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เรียกร้องความรับผิดชอบต่อเนื้อหาในนวนิยาย

องค์ บรรจุน นักเขียนเชื้อสายมอญ กล่าวว่า "หนังสือเล่มนี้เนื้อหาดี ข้อมูลหลากหลาย โดยรวมเขียนได้ดีเข้าใจชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยที่ถูกกระทำจากพม่า โดยมีเจตนาดีแต่การใช้สัญลักษณ์ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม"

"ไม่ใช่ความผิดของฉันที่ตอนนี้ฉันกลายเป็นกะเหรี่ยง  ซึ่งพวกเราชนกลุ่มน้อยก็ผสมผสานทางชาติพันธุ์กันมาตั้งแต่บรรพกาลแล้ว แต่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไม่เคยรับรู้ หรือเลือกที่จะละเลย" คือข้อความในจดหมายของ พอทู ตัวละครจากนวนิยาย ที่ "ศิริวร แก้วกาญจน์" ผู้เขียนเลือกใช้ในการตอบประเด็นความขัดแย้งผ่านหน้าเฟสบุ๊ค ขณะที่เจ้าตัวอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย และให้ความเห็นผ่านหน้าเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอมรับว่านวนิยายเล่มนี้อาจมี ความผิดพลาดในขั้นตอนพิสูจน์อักษรบ้าง

หากสัญลักษณ์ที่เป็นปัญหาในเรื่องนั้นขึ้นอยู่กับการตีความของนักอ่านแต่ละคน ซึ่งข้อเรียกร้องจากสมาคมไทยรามัญ นอกจากต้องการให้นักนักเขียนออกมาขอโทษ ยังให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวกลางเข้ามาประสานแก้ไขปัญหานี้เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายภายในสังคมไทย รวมถึงระหว่างพลเมืองของภูมิภาคที่จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในฐานะประชาคมอาเซียน

ขณะที่ เจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ขอแสดงความเสียใจที่บางเรื่องไปกระทบต่อความรู้สึกของชนชาติมอญ ซึ่งต้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายพบปะทำความเข้าใจกัน"

โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า เป็นนวนิยายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ (2555) บอกเล่าเรื่องราวความขัดแย้งและชีวิตของชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และ สสส. ให้ผู้เขียนใช้เวลาเก็บข้อมูลตามชายแดนประเทศพม่า 6 เดือนก่อนเขียนออกมาเป็นนวนิยาย

นอกจากถูกจับตาในฐานะ 1 ใน 7 เล่มสุดท้ายของซีไรต์ ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังทำให้โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า ยังถูกจับตาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านวนิยายเรื่องคนแคระ ที่เป็นผู้ชนะบนเวทีซีไรต์ปีนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง