พท. เตรียมยื่นเรื่องของตรวจสอบคำสั่งการระบายน้ำ กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หารือเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ กับนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน โดยอดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ การระบายน้ำทำได้ค่อนข้างยาก ควรแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหรือกรุงเทพฯ ชั้นใน ควรมีการป้องกันไม่ให้น้ำจากนอกพื้นที่ไหลเข้ามาได้
ส่วนการระบายน้ำฝน ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ใช้ระบบปิดล้อมย่อยในหลายๆ พื้นที่ เพื่อระบายน้ำลงคลองต่างๆ ก็ทำได้อย่างดี ซึ่งระบบปิดล้อมย่อยถือเป็นเทคนิคปกติที่มีการใช้มานานแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ การใช้กระสอบทรายบล็อกน้ำแบบเร่งด่วนชั่วคราวสามารถทำได้ แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนจากใช้กระสอบทรายเป็นบานประตูเปิด-ปิดในท่อระบายน้ำแทนเพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น และส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก เช่น เขตมีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วมขังบ่อย ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการดำเนินการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ควรจะมีการจัดทำฟลัดเวย์หรือทางน้ำไหลทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกให้แน่นอน เพื่อช่วยให้สามารถระบายน้ำได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งการทำทางนำน้ำนั้นสามารถทำได้หลายวิธี และเนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงจึงต้องมีการวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างชัดเจน
ด้านนายปราโมทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครดำเนินการระบายน้ำในพื้นที่ได้ดีแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร และสามารถป้องกันน้ำจากภายนอกเข้ามาในพื้นที่ได้อย่างดีอีกด้วย พร้อมกันนี้ ได้แนะนำและตั้งข้อสังเกตการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ว่า ควรให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระดับชาติ มีแผนการทำงานในภาพรวมและเป็นรูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่
ขณะที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การใช้วิธีปิดล้อมย่อยโดยใช้กระสอบทรายวางปิดกั้นน้ำในท่อระบายน้ำเพื่อบล็อกน้ำไว้ในพื้นที่จำกัด ก็เพื่อช่วยให้การระบายน้ำจากพื้นที่หรือถนนให้เร็วขึ้นนั้น กรุงเทพมหานครใช้วิธีการนี้มานานแล้ว แต่จะดูตามพื้นที่และสถานการณ์ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับพื้นที่ต่ำ เพื่อป้องกันน้ำจากพื้นที่สูงไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ
ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ระบบปิดล้อมใหญ่ถาวรในพื้นที่ 18 จุด และในจุดใหญ่ๆ ก็จะมีการใช้ระบบปิดล้อมย่อยๆ ตามสถานการณ์เพิ่มเติม เมื่อสถานการณ์น้ำเข้าสู่ภาวะปกติก็จะนำกระสอบทรายออกจากท่อ แต่หากเกิดฝนตกหนักหรือน้ำท่วมขังก็จะนำกระสอบทรายกลับไปกั้นน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ตามปกติ ส่วนกระสอบทรายที่พบในพื้นที่เขตมีนบุรี ไม่ใช่ของกรุงเทพมหานคร แต่เป็นกระสอบทรายของภาคเอกชนที่ใช้ปิดล้อมพื้นที่เพื่อช่วยในงานก่อสร้างให้สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของงานก่อสร้างเช่นกัน โดยหลังจากนี้ กรุงเทพมหานคร จะติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็จะนำกระสอบทรายออกจากท่อระบายน้ำ แต่ถ้าการนำกระสอบทรายออกส่งผลกระทบกับประชาชนก็จะยังคงวางกระสอบทรายไว้อย่างเดิมจนกว่าจะแน่ใจ
ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีที่ กทม.นำกระสอบทรายอุดท่อระบายน้ำว่า เป็นเรื่องที่สร้างพิสดารผิดวัตถุประสงค์ โดยจะขอท้าพิสูจน์ว่าเหตุใดจึงต้องใช้วิธีการนี้ และใครเป็นผู้เสนอและพิจารณา ใครอนุมัติสั่งการ มีประชุมเมื่อใด โดยจะขอเอกสารวาระที่เคยมีการพิจารณาสั่งการ ซึ่งเรื่องนี้ ผู้บริหาร กทม.ต้องชี้แจงผ่านสื่อ ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการปฏิบัติของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหาร กทม. พร้อมระบุจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ในวันพรุ่งนี้( 11 ต.ค.) โดยจะขอเอกสารหลักฐานจาก กทม.ทั้งหมด ว่ามีการพิจารณาสั่งการอย่างไรจึงนำกระสอบทรายไปอุดท่อ