พท.เล็งยื่น ป.ป.ช.สอบงบประมาณลอกท่อระบายน้ำของ กทม.
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและส่วนราชการว่า อาจมีการทุจริตงบประมาณการลอกท่อของ กรุงเทพมหานคร 30 คลองสายหลัก อาทิ คลองไผ่สิงโต คลองสาหร่าย คลองวัดไผ่เงิน ด้วยงบประมาณกว่า 61.4 ล้านบาท และการดำเนินการในแต่ละจุดยังไม่เสร็จสิ้น ทำให้เกิดปัญหา จึงขอเรียกร้องให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ชี้แจงรายละเอียด รวมทั้งเรียกร้องให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิก ร่วมตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย ส่วนตัวจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรวจสอบการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอท้าให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งความดำเนินคดีกับตนและคณะที่รื้อกระสอบทรายออกจากท่อระบายน้ำ เพื่อจะเตรียมนำข้อมูลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจากขณะนี้ปรากฎชัดแล้วว่า ไอ้โม่ง ที่ กทม.อ้างคือใคร นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยจะจับตาการใช้งบประมาณของสำนักงานเขตต่างอย่างเข้มข้น ก่อนที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะหมดวาระ ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้นำงบประมาณไปใช้ในการประชาสัมพันธ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ด้านม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ไม่รู้สึกกังวลใจ ไม่ว่ากรณีที่นายพร้อมพงศ์ เตรียมยื่นเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบการทุจริตการลอกท่อระบายน้ำ รวมถึงการที่จะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สั่งปลดจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะทำงานรับใช้ประชาชน ไม่ได้ทำงานให้รัฐบาล หรือคณะกรรมการบริการจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. พร้อมยืนยันว่า จะทำงานจบครบวาระ แต่หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะสั่งปลดก็เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงที่สามารถทำได้ ซึ่งหากถูกปลดออกจากตำแหน่งจริง ก็จะกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้ง
ขณะที่นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาระบุถึง การนำกระสอบทรายปิดล้อมท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นชนวนเหตุของการตอบโต้กันในครั้งนี้ โดยระบุว่า วิธีนี้ช่วยลดน้ำในท่อระบายน้ำได้ และเป็นระบบชั่วคราว ที่ทำกันในหลายประเทศจริง สอดคล้องกับความเห็นของ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า เทคนิคนี้เป็นภูมิปัญญาโบราณ ในกรุงเทพมหานครเคยใช้มาแล้ว เมื่อตอนเกิดน้ำท่วมปี 2526 และกรมชลประทานใช้เทคนิคนี้เช่นกัน