ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

35 ปีโฟล์คซองคำเมือง"จรัลในดวงใจ"

Logo Thai PBS
35 ปีโฟล์คซองคำเมือง"จรัลในดวงใจ"

เป็นเวลา 35 ปี แล้ว นับจากวันที่จรัล มโนเพ็ชร เป็นต้นแบบสร้างตำนานเพลง โฟล์คซองคำเมือง วันนี้คีตกวีล้านนาจากไปกว่า 10 ปี แต่บทเพลงของเขายังเป็นที่จดจำ เป็นที่มาของคอนเสิร์ตจรัลในดวงใจ

เพราะเขียนขึ้นจากชีวิตจริงของตนเอง ยามเมื่อจับไมค์ร้องเพลงซอขาดสาย บทเพลงแต่งใหม่ เปรียบการจากไปของคีตกวีล้านนา จรัล มโนเพ็ชร ดังเช่นสายซอที่ขาดไป สุนทรี เวชานนท์ จึงถ่ายทอดได้อย่างเข้าถึงอารมณ์เพลงทุกครั้ง แม้ชื่อของอดีตศิลปินคู่ขวัญจะเหลือเพียงตำนานความทรงจำ หากเพลงดังที่เคยสร้างสรรค์ร่วมกันไว้มากมาย อย่างสาวเชียงใหม่ ล่องแม่ปิง น้อยใจยา ยังถูกนำมาขับร้องแทบทุกวันภายในร้านอาหารของเธอที่เชียงใหม่

การได้นำผลงานของจรัลมาร่วมย้อนวันวาน เรียกบรรยากาศก่อนคอนเสิร์ตใหญ่ ฉลองครบรอบ 35 ปี โฟล์คซองคำเมือง นอกจากบอกเล่าคุณค่าสำเนียงเพลงภาษาถิ่นเหนือ ที่จรัล มโนเพ็ชร ผสมผสานร่วมกับดนตรีร่วมสมัย จนเป็นแบบอย่าง ยังยกย่องราชาโฟล์คซองคำเมือง ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำเพลงรุ่นหลัง

โดยนำ 35 ภาพ จากกลุ่มศิลปินและช่างภาพ มาร่วมถ่ายทอดความเป็นจรัล มโนเพ็ชร จัดแสดงพร้อมกับ 35 บทเพลงบนเวที

สุนทรี เวชานนท์  ศิลปินล้านนา กล่าวว่า "บทเพลงของจรัล แทบทุกเพลงยังอยู่ในดวงใจ เราเองก็ยังร้องกันอยู่ทุกวัน และเพลงที่เขาแต่งๆ ไว้ก็ยังได้ยินกันอยู่ ถึงตัวเขาจะไม่อยู่แล้ว"

สอดคล้องกับ ณัฐวุฒิ ศรีหมอก (กอล์ฟ สิงห์เหนือ)  ศิลปินเพลงฮิปฮอป ที่ระบุว่า "ฟังเพลงอ้ายจรัลมาตั้งแต่เด็กๆ ผมเป็นคนเหนือด้วยก็จะได้ยินเพลงของเขาอยู่แล้ว การเป็นศิลปินของผมก็ได้สัญญาต่อหน้าหนังสือของอ้ายจรัลว่า จะร้องเพลงให้อ้ายจรัลสักครั้งหนึ่ง"

ขณะที่ พยัต ภูวิชัย ศิลปินและผู้จัดคอนเสิร์ตจรัลในดวงใจ เผยว่า "การจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันของศิลปินเพลงที่รักและมีบทเพลงของจรัลอยู่ในดวงใจ ที่มีแนวคิดว่ารายได้จากการจัดงานจะนำมาจัดตั้งจรัล มิวเซียม"

เพราะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในกรุงเทพ บ้านในซอยพระยาสุเรนทร์ 6 ถนนรามอินทรา 109 หลังนี้ จึงเป็นทั้งที่อาศัย และเก็บรวบรวมผลงาน ตลอดจนรางวัลแห่งความภูมิใจของศิลปินล้านนา ที่วันนี้มีแผนการสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยนำรายได้ส่วนหนึ่งจากคอนเสิร์ตจรัลในดวงใจ ซึ่งจัดแสดงในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นำมาปรับปรุงบ้านพัก เป็น "จรัล มิวเซียม" แหล่งเรียนรู้เรื่องราวของคีตกวีล้านนา รวมถึงสร้างหุ่นจำลองขนาดเท่าตัวจริง แทนความระลึกถึง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง