สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มวิกฤติ กระทบพื้นที่นาข้าวในหลายจังหวัดภาคอีสาน
ชาวนาในตำบลลำภู อำเภอเมืองหนองบัวลำภู ต้องสูบน้ำเข้าที่นาที่กำลังตั้งท้อง หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 1 เดือน ส่งผลให้ต้นข้าวบางส่วนเกิดโรคระบาดและแห้งตาย
เบื้องต้นนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ประสานไปยังสำนักปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เร่งทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร
เช่นเดียวกับนาข้าวในตำบลท่าตูมอำเภอเมืองมหาสารคาม ซึ่งอยู่ในเขตชลประทาน เริ่มได้รับผลกระทบเช่นกัน หลังเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง ลดปริมาณการระบายน้ำของฝายวังยาง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคช่วงหน้าแล้ง
ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเหลือปริมาณการกักเก็บอยู่ที่ 1,124 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่าง
นายทรงยศเจิดนภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างน้อยมาก เฉลี่ยวันละ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะที่เขื่อนต้องปล่อยน้ำวันละ5 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกร ที่ต้องใช้น้ำเลี้ยงหล่อเลี้ยงต้นข้าว
นายสุพจน์ ปั้นทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยากมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ แจ้งเตือนให้ชาวนาปรับลดพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปรังในรอบใหม่ หลังพบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวมีระดับกักเก็บอยู่ที่ 462 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 23 ของความจุอ่าง ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 20 ปี