ประชาธิปไตย กับความรุนแรงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
จุดเริ่มต้นจากข้อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งโดยกลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชน จนนำไปสู่เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 จวบจนวันนี้ แม้บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจะเปลี่ยนเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยแล้ว แต่ยังคงถูกตั้งคำถามถึงการนำบทเรียนในอดีตเพื่อปฏิเสธการใช้ความรุนแรงจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
จากรายงานสรุปฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.ชี้ให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐและการชุมนุมทางการเมือง เดือนเมษายนและพฤษภาคมปี 2553 แม้กลุ่ม นปช.จะไม่เห็นด้วยกับรายงานสรุปที่อ้างถึงชายชุดดำก็ตาม ขณะที่สาเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทยเกิดจากปัญหาระบบโครงสร้างอำนาจ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่เป็นธรรมในสังคม
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งข้อสังเกตถึงการชุมนุมเพื่อหวังผลทางการเมืองทุกกลุ่มจะเป็นประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจรัฐ แตกต่างกับการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ทั้งปัญหาที่ดินทำกิน การศึกษา และการเข้าถึงสื่อ ประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยตรง
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ การใช้สิทธิของพลเมืองในการเคลื่อนไหว ถือเป็นเป็นพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย สะท้อนได้จากกรณีของนางจินตนา แก้วขาว ที่ถูกจำคุกเป็นเวลา 4 เดือนในการเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นสัญลักษณ์ของความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม สะท้อนถึงบริบทประชาธิปไตยในอดีต และปัจจุบัน ยังคงไม่แตกต่างที่ประชาชนมักตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง และทุนนิยม
สถาบันการศึกษาในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมรำลึกเหตุการณ์ด้วยการปักหมุด 14 ตุลาฯ ณ ลานโพธิ์ ในวันนี้ เป็นการแสดงสัญญลักษณ์ที่มุ่งหวังให้ทุกฝ่ายไม่ลืมอดีต และบรรจุให้ วันที่ 14 ตุลาคมเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย และประชาคมธรรมศาสตร์คาดหวังที่จะขับเคลื่อนเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศเป็นวันสำคัญของชาติต่อไป