ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสทช.ยืนยันราคาประมูล 3 จีเหมาะสม ไม่ทำประเทศเสียหาย

Logo Thai PBS
กสทช.ยืนยันราคาประมูล 3 จีเหมาะสม ไม่ทำประเทศเสียหาย

“พ.อ.เศรษฐพงค์” รองประธาน กสทช. ยืนยัน การประมูลการแข่งขันเสนอราคา 3 จี ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรต์ โดยเอไอเอส เป็นเจ้าที่เสนอราคาสูงสุด คือ 14,000 กว่าล้านบาท ส่วนดีแทคและทรูมูฟ เสนอราคาเท่ากันที่ 10,003 ล้านบาท เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว และไม่ได้ทำให้ประเทศชาติเสียหายแต่อย่างใด

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทค. เปิดเผยว่า แม้ราคาประมูลใบอนุญาตให้บริการ หรือ ไลเซ่นส์ 3 จี 2.1 กิกะเฮิร์ตซ จะขยับขึ้นจากราคากลางเพียงเล็กน้อย โดยได้ราคารวม 9 ใบ ที่ 41,625 ล้านบาท จากราคากลาง 40,500 ล้านบาท หรือเพิ่มจากราคาเริ่มต้นเพียง 2.38% พร้อมยืนยันว่าราคาที่ได้เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว และไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศแต่อย่างใด ซึ่ง ผลการประมูลสรุปว่า มีการเคาะราคาเพิ่มขึ้นเพียง 3 ใบ แบ่งเป็น 4,950 ล้านบาท 2 ใบ และ 4,725 ล้านบาท 1 ใบ รวมมูลค่า 14,625 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่เคาะราคา 3 ใบ นี้ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ส่วนอีก 6 ใบที่เหลือ ราคาสุดท้ายยังคงอยู่ที่ใบละ 4,500 ล้านบาท โดยเรียล ฟิวเจอร์ และ ดีแทค เนทเวอร์ค เสนอราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาทรายละ 3 ใบ

สำหรับแอดวานซ์ไวร์เลส ที่เสนอราคาสูงที่สุด ทำให้มีสิทธิ์เลือกตำแหน่งคลื่นที่ต้องการเป็นรายแรก และตำแหน่งที่แอดวานซ์ ไวร์เลส เลือกนั้นอยู่ติดกับ บริษัท ทีโอที ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะโรมมิ่งกันในอนาคต เพราะปัจจุบัน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ที่ เป็นบริษัทแม่ได้ใช้โครงข่ายร่วมกับทีโอทีอยู่แล้วในฐานะคู่สัญญาสัมปทาน

ขณะที่เรียล ฟิวเจอร์ จับสลากได้สิทธิ์เลือกก่อนดีแทค และได้เลือกตำแหน่งกลาง โดยฝั่งซ้ายเป็น ดีแทค เนทเวอร์ค และ ฝั่งขวา คือ แอดวานซ์ ไวร์เลส ซึ่งกสทช. จะให้ไลเซ่นส์อย่างเป็นทางการได้ภายในต้นเดือน พ.ย.นี้

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การประมูลครั้งนี้แม้จะทำให้ประชาชนมีบริการ 3G ใช้กันอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนในฐานผู้เสียภาษี เมื่อเทียบจากราคาประเมินถึง 16,335 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการทั้งสามรายได้ประโยชน์จากส่วนต่างนี้ไปเป็นเสมือน "ลาภลอย" ทั้งนี้ยังไม่รวมประโยชน์ที่ได้จากการลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐอีกปีละกว่า 40,000 ล้านบาท

ทั้งเรื่องการจำกัดคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะสามารถถือครองได้ให้เท่ากัน ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็น และการกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้เกิดความเสียหายมาก เมื่อไม่มีการแข่งขันกันเท่าที่ควร ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ กสทช. รับผิดชอบต่อความเสียหายต่อรัฐและประชาชนที่เกิดขึ้น โดยหลังจบการประมูลแล้ว คาดว่า กสทช. จะสามารถออกใบอนุญาตได้ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ และตั้งเป้าว่าเอกชนจะสามารถให้บริการได้ในช่วงเดือน มีนาคมปีหน้า ในพื้นที่กรุงเทพฯและเมืองใหญ่ 18 จังหวัด จากนั้นการให้บริการจะครอบคลุม 50 % ภายใน 2 ปีและครอบคลุม 80 % ภายใน 4 ปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง