วุฒิสภาทำหนังสือ
หนังสือประทับตราด่วนที่สุด ซึ่งคณะกรรมาธิการการศึกษาการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภาส่งถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ ไม่เปิดกว้างให้แข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม, การเร่งรีบรับรองผลประมูลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. 4 คน และไม่นำผลรับรองเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหญ่ 11 คนให้มีส่วนร่วมตัดสินใจ
ขณะที่วันนี้ ( 24 ต.ค.) คณะกรรมการ กทค.มอบหมายให้เลขาธิการ กสทช. ยื่นหนังสือต่อหน่วยตรวจสอบต่าง ๆ ประกอบด้วย สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช., กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนนายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. เป็นตัวแทนเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา
เอกสารที่ กสทช. ชี้แจงได้แก่ ระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประมูล, รายงานการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงรายงานผลของบริษัทที่ปรึกษา เป็นต้น ซึ่งพรุ่งนี้ ( 25 ต.ค.) คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ จะประชุมเพื่อลงมติว่า จะรับไว้ไต่สวนหรือไม่
ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมในสัปดาห์หน้าซึ่งจะรวมถึงประเด็นที่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ยื่นร้องขอให้ผู้ตรวจการเป็นตัวแทนฟ้องศาลปกครอง เพราะเห็นว่า ภาครัฐเกิดความเสียหายจากการจัดประมูลที่ไม่เกิดการแข่งขัน
ส่วนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะขอพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะแม้ขณะนี้ยังไม่มีผู้ร้องเรียน แต่โดยหลักการก็มีอำนาจพิจารณา
สำหรับปัญหาระหว่างกรรมการฝั่งกิจการโทรคมนาคมที่รับผิดชอบเรื่องประมูล 3 จีมาโดยตลอดส่งผลให้ วันนี้ ( 24 ต.ค.) กรรมการ กสทช.ฝั่งกิจการกระเสียงทำหนังสือด่วนที่สุดถึงประธาน กสทช.เพื่อขอให้เรียกประชุมกรรมการ กสทช.ทั้ง 11 คน เพราะเห็นว่า หากการดำเนินการประมูล 3 จีเกิดปัญหา กรรมการ กสทช.ทั้ง 11 คนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจซึ่งเป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์วิธีการประมูลในข้อที่ 18 แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม 4 คน ต่างยืนยันว่า เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของกรรมการฝั่งโทรคมนาคมในการตัดสินใจเกี่ยวกับกระบวนประมูล