ปัญหาภัยแล้งหลายจังหวัดเริ่มส่อเค้ารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ชาวนาตำบลหนองหว้า อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู 7 หมู่บ้าน กว่า 400 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากนาข้าวกว่า 1,000 ไร่ กำลังได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำ จึงร่วมกันทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอความช่วยเหลือสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เพื่อนำมาสูบน้ำจากแหล่งน้ำลำพะเนียงใส่นาข้าว ซึ่งชลประทานจังหวัดหนองบัวลำภู มีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ท่อสูบขนาด 8 นิ้ว สูบน้ำได้ชั่วโมงละ 450 ลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ทางจังหวัดได้ประสานชลประทานจังหวัดให้นำเครื่องสูบน้ำ10 เครื่อง ช่วยเหลือชาวนาที่มีพื้นที่อยู่ติดกับแหล่งน้ำลำพะเนียง และแหล่งน้ำอื่น เพื้อสูบน้ำใส่นา ป้องกันต้นข้าวขาดน้ำ และแห้งตาย ก่อนการเก็บเกี่ยว
ส่วนชาวนาตำบลคอนสาย อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี ต้องตัดสินใจซื้อน้ำจากพ่อค้าขายน้ำในราคาคันละ 200 บาท เพื่อนำไปใช้หล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังจะยืนต้นตาย หลังต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วง โดยภัยแล้งในจังหวัดอุดรธานีถือว่าหนักที่สุดในรอบ 60 ปี ล่าสุดทางจังหวัดประกาศให้พื้นที่ 12 อำเภอ เป็นเขตพิบัติภัยแล้งแล้ว มีนาข้าวได้รับผลกระทบมากกว่า 2,500,000 ไร่
ที่จังหวัดนครราชสีมา เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา ได้อุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ ชุดเป่าล้าง และพัฒนาบ่อน้ำบาดาล รวมทั้งรถผลิตน้ำดื่ม เข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ประสบภัย หลังทั้งจังหวัดมีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับผลกระทบแล้วกว่า 270,000 ไร่ ใน 6 อำเภอ
ขณะที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ยังคงปล่อยน้ำ 9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อส่งน้ำไปช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ หลังระดับน้ำแม่น้ำน่านลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เริ่มประสบปัญหาขาดน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร
ส่วนที่จังหวัดนครสวรรค์ ชาวนาหมู่ 6 ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย เริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะนี้นาข้าวในพื้นที่เริ่มขาดน้ำ เพราะแม่น้ำปิงเริ่มตื้นเขิน ทำให้เกษตรกรหลายคนต้องใช้เงินส่วนตัวในขุดลอกลำน้ำปิง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเข้าที่นาทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนมากขึ้น
นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า พายุโซนร้อนเซินตินห์ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองดานัง ประเทศเวียดนามประมาณ 550 กิโลเมตร คาดว่าจะทวีกำลังขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ จากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวต่อไป
นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 29-31 ตุลาคม บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และอากาศจะเย็นลง ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมทำฝนหลวงในช่วงวันที่ 28-31 ตุลาคม เนื่องจากมีความชื้นเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดฝนตกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ ทำให้ปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ประชาชนได้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูหนาวนี้