ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปัญหาอำนาจ"ชี้ขาด"การประมูล 3 จีของกรรมการ"กสทช."

27 ต.ค. 55
15:26
25
Logo Thai PBS
ปัญหาอำนาจ"ชี้ขาด"การประมูล 3 จีของกรรมการ"กสทช."

ปัญหา 3 จี นอกจากฝ่ายต่างๆ ทั้ง ป.ป.ช.,สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน,ดีเอสไอ และคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา อีกหลายชุดจะเข้ามาตรวจสอบเกี่ยวกับความโปร่งใสแล้ว ปัญหาภายในระหว่างคณะกรรมการกสทช.ด้วยกัน ก็เป็นอีกประเด็นที่เรียกว่ายกระดับความร้อนแรงไม่แพ้กัน เกี่ยวกับ"อำนาจ"ว่า ใครควรเกี่ยวข้องต่อการจัดประมูล และทำให้คณะกรรมกสทช.กสทช. เรียกร้องให้มีการเรียกประชุมเรื่องนี้กันเร่งด่วน

<"">
<"">

"กสทช."เป็นองค์กรอิสระที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้มากำกับดูแล และจัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม มีคณะกรรมการ รวมทั้งสิ้น 11 คน แบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 2 ด้านหลัก ในรูปแบบคณะกรรมการ 2ชุด ตามที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 กำหนดไว้

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม มีจำนวน 5 คน รับผิดชอบจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม งานใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของสังคมขณะนี้ คือ การจัดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3 จี ในขณะนี้ และนับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่กรรมการฝั่งนี้ประกาศว่าเป็นความสำเร็จมาตลอด

ส่วนอีกชุด คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มี 5 คน มีภาระการจัดระเบียบสถานีวิทยุที่ไม่มีใบอนุญาตกว่า 8,000 แห่ง และการเปลี่ยนผ่านสัญญาณการแพร่ภาพจากระบบภาคพื้นดิน ไปสู่ระบบดิจิตอล ทั้งวิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งปลายปีนี้ก็จะเข้าสู่การจัดสรร และประมูลใบอนุญาตเช่นกัน เป็น 2 งานใหญ่ ที่อยู่ระหว่างการผลักดัน

แต่ปัญหาเกี่ยวกับการจัดประมูล 3 จี ที่ถูกหลายภาคส่วนในสังคมตรวจสอบ ส่งผลให้ คณะกรรมการกสทช. 2 คน เกิดข้อกังขาว่า กสทช.ทั้ง 11 คน ควรมีอำนาจชี้ขาด เพื่อร่วมรับผิดชอบในเรื่องนี้หรือไม่ แทนที่จะเป็นกรรมการฝั่งโทรคมนาคมฝ่ายเดียว และ กรรมการทั้ง 2 คน ต่างก็ทำหนังสือ"ด่วนที่สุด"ส่งถึง ประธาน กสทช. เรียกประชุมกรรมการทั้งหมด เพื่อชี้ขาดว่า "กรรมการชุดใด มีอำนาจในการรับรองผลประมูล 3 จี"กันแน่

โดยเฉพาะเมื่อฝั่งกระจายเสียง ยืนยันว่า อำนาจชี้ขาดปัญหาควรเป็นหน้าที่ของ กสทช.ทั้ง 11 คน ตามที่กำหนดไว้ชัดเจน ในประกาศหลักเกณฑ์การประมูลที่ว่า "เมื่อเกิดปัญหาใดๆ กับการประมูล ก็ให้เป็นอำนาจชี้ขาดของ คณะกรรมการ กสทช."

ขณะที่ กสทช.ฝั่งโทรคนาคม ต่างยืนยันมาตลอดว่า ฝั่งตนเองมีสิทธิ์ชี้ขาด เพราะพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายใหญ่กว่า ให้อำนาจแบ่งหน้าที่กันทำงาน และที่ผ่านมาฝั่งโทรคม ก็ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับปัญหาใหญ่ ของฝั่งกระจายเสียงฯ เช่น การแก้ปัญหา"จอดำ"ในสมัยการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012

ขณะที่ล่าสุด ประธานกสทช.ได้สั่งให้กรรมการฝั่งโทรคมนาคม รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประมูล แต่ไม่ได้คำสั่งเรียกเปิดการประชุมด่วน จึงทำให้ นพ.ประวิทย์ ต้องทำบันทึก"ด่วนที่สุด"เป็นครั้งที่ 2 ในวันนี้ ( 27 ต.ค.) ส่งถึงประธาน เพื่อขอให้ชี้ขาดว่า"กรรมการชุดใด มีอำนาจหน้าที่ในการรับรองผลประมูล" ขณะที่ประธานกสทช.ไม่แสดงท่าทีว่าจะต้องเรียกประชุมด่วน พร้อมเห็นเบื้องต้นว่าอำนาจทางกฎหมายอยู่ที่ 5 คน ของฝั่งโทรคมนาคม

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้ร่วมร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ให้ความเห็นว่า แม้กฏหมายจะให้อำนาจ กสทช.ทั้ง 2 ฝั่ง แบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบชัดเจน แต่เจตนารมย์ของของกฎหมายฉบับนี้ ก็ต้องการให้เกิดการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม และหากเกิดข้อสงสัยในเรื่องใหญ่ๆ และอาจส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง กสทช.ทั้ง 11 คน ก็ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะนั่นคือ การแสดงความรับผิดชอบ ต่ออำนาจที่แต่ละคนมี

มีรายงานว่า เหตุผลสำคัญที่สุด ที่ถูกนำมาเป็นข้อสังเกตของปัญหานี้ คือ หากเรียกประชุมคณะกรรมการ 11 คน ก็อาจส่งผลให้เสียงไม่รับรองผลประมูล มีมากกว่า และอาจส่งผลไปถึงการชะลอออกใบอนุญาต 3 จี ให้เอกชน ขณะเดียวกัน อนาคต เมื่อเกิดปัญหากับฝั่งกระจายเสียงในลักณะเดียวกัน การวินิจฉัย จะยอมให้ฝ่ายโทรคมนาคม ร่วมตัดสินใจด้วยหรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง