ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วงวิชาการ"เอชไอเอ" ชี้ท่าเรือน้ำลึกเชฟรอนทำประมงท่าศาลา-คนคอน ล่มสลาย

Logo Thai PBS
วงวิชาการ"เอชไอเอ" ชี้ท่าเรือน้ำลึกเชฟรอนทำประมงท่าศาลา-คนคอน ล่มสลาย

ระบุพบข้อบกพร่องในร่างรายงานผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกและศูนย์ปฏิบัติการ กระทบวิถีประมงชายฝั่ง หวั่นทำลายทรัพยากรทางทะเลและวิถีชีวิตคนท้องถิ่นอีกทั้งเป็นการปูทางสร้างนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก 2 หมื่นไร่

 เครือข่ายนักวิชาการเอชไอเอ (HIA Consortium) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเรียนรู้เอชไอเอผ่านกรณีศึกษา (HIA Case Conference) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มีตัวแทนจากภาครัฐ นักวิชาการ นักกฎหมาย ภาคประชาสังคม เครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา ชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าร่วม

รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า นอกจากนี้โครงการนี้เป็น 1 ใน 11 ประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA เพราะมีท่าเรือที่ยื่นออกไปในทะเลยาวกว่า 300 เมตร คือยาวออกไป 330 เมตร ต้องจัดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตโดยสาธารณะ (Public Scoping) ซึ่งในหลายโครงการที่ทำก็พบว่าเป็นเพียงพิธีกรรมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่อยากให้สาธารณะเข้าร่วมกันกำหนดประเด็นข้อห่วงกังวลก่อนนำไปศึกษาและประเมินผลกระทบ

โดยที่ผ่านมาชุมชนก็มีการทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (CHIA) เป็นการทำตามกฎหมาย พรบ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ซึ่งพบว่าโครงการท่าเรือนี้จะทำให้ ดอน ซึ่งเป็นระบบนิเวศย่อยในทะเลซึ่งเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำและแหล่งอาหารเสียอย่างยากที่จะเรียกคืนได้ นอกจากนี้ในกรอบข้อตกลงในการดำเนินโครงการ (TOR : Term of reference) ควรระบุตัวชี้วัดในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพใน 4 มิติ คือ สุขภาพ จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ

รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า มิติชี้วัดด้านจิตวิญญาณและปัญญาของกรณีนี้คือการสืบทอดอาชีพประมงและทะเลคือชีวิตของพวกเขา หากทะเลตายจิควิญญาณพวกเขาก็ตาย คนที่ไร้วิญญาณก็คือผีดิบ หายใจ มองเห็นแต่ไม่มีความรู้สึก ถ้าโครงการใดโครงการหนึ่งกระทบจิตวิญญาณมันอาจเป็นจุดแตกหักของชุมชนเลยก็ได้

นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวว่า ที่ตั้งของโครงการขัดกับร่างผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ห้ามสร้างพื้นที่สำรองวัตถุอันตราย เพราะในร่างรายงานฯ ระบุว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งจะกักเก็บวัตถุอันตรายซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสีและวัตถุระเบิดไว้ โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 กรมโยธาธิการและผังเมืองทำหนังสือถึงโยธาธิการจังหวัดนครฯ เลขที่ นส.0020/2929 ว่าร่างผังเมืองจังหวัดนครฯ จะประกาศใช้ภายในเดือนธันวาคม 2555 แต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) กลับพิจารณาเห็นชอบรายงาน EHIA ของโครงการนี้ ไปวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหนึ่งใน คชก. ชุดนี้แต่กลับไม่มีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าว

ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่ว่างในโครงการอีก 390 ไร่ ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่รอการพัฒนาโดยไม่รู้แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีกกว่า 30 ปี ข้างหน้าแต่รายงาน EHIA ก็ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว ดังนั้นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ก็จะเป็นเพียงการทำการประเมินของโครงการส่วนขยายเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการประเมินผลกระทบภาพรวมของโครงการฯ ทั้ง 30 ปี ซึ่งจากร่างรายงานของโครงการนี้ ยังระบุอีกว่าจะมีการวางแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการพัฒนาที่เป็นจุดเปลี่ยนของภาคใต้และสอดคล้องกับแผนพัฒนาชายฝั่งภาคใต้ของ สภาพัฒนาเศรษฐกิจการคลังระบุว่าพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้มีศักยภาพการพัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงาน แต่ชุมชนยังคัดค้านสูงจะเลือกที่จะชะลอโครงการขนาดใหญ่ไว้ก่อน

“ต้องนำข้อมูลจากโครงการนี้มาพิจารณาว่าเกิดผลกระทบสูงกว่าในร่างรายงานฯ หรือไม่ ควรประเมินประเด็นการกักเก็บสารกัมมันตภาพรังสีเพิ่มเติมด้วยและต้องประเมินภาพรวมผลกระทบโครงการภาพรวมทั้ง 30 ปีด้วย” นางภารนี กล่าว

นายประสิทธิชัย หนูนวล นักปฏิบัติการเอชไอเอชุมชนท่าศาลา กล่าวว่า ร่างรายงานฯ โครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาของ คชก. ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเพียงการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย แต่เชื่อว่าเนื้อหายังมีข้อบกพร่องโดยเฉพาะในส่วนของผลกระทบต่อชุมชน อีกทั้ง คชก. ก็ไม่เปิดเผยรายงานฉบับดังกล่าวต่อสาธารณชนอีกด้วย

นายประสิทธิชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทางเชฟรอนฯ ทราบข้อห่วงกังวลของชุมชนจากขั้นตอนของการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบ (Public Scoping) ที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดขอบเขตการศึกษาแต่กลับไม่ได้สนใจในประเด็นนี้อย่างจริงจัง โดยสิ่งที่ชาวบ้านสะท้อนออกมาประกอบด้วย 1. บริษัทมีการละเมิดสิทธิชุมชนด้วยการร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่สร้างความแตกแยกให้คนในชุมชน ทำให้ชาวบ้านขาดความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นเพราะถูกครอบงำโดยผู้นำท้องถิ่น

2. เกิดผลกระทบกับประมงชายฝั่งและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างรุนแรง เพราะพื้นที่ อ.ท่าศาลา มีดอนหรือสันดอนขนาดใหญ่ที่เกิดจากการทับถมของตะกอน แร่ธาตุ ปะการัง ทำให้ปลาและสัตว์น้ำต่างเข้ามาอาศัยบริเวณนี้จำนวนมาก หากดอนถูกทำลายไป เท่ากับอาชีพของคนในพื้นที่ อ.ท่าศาลาจะล่มสลายไปในทันที

นอกจากนั้นชุมชนท่าศาลาได้รวมตัวกันศึกษาและทำข้อมูลด้วยกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชนหรือเอชไอเอชุมชน ควบคู่ไปกับการทำการศึกษา EHIA ของบริษัทที่ปรึกษาและพบว่า พื้นที่อ่าว อ.ท่าศาลา-อ.สิชล มีดอนในทะเลที่สมบูรณ์จนชุมชนเรียกว่าดอนทองคำ เพราะสามารถหาสัตว์ทะเลได้ทั้งปี โดยเฉพาะกั้งในช่วงมรสุมเช่นนี้สามารถหาได้เต็มลำเรือโดย 1 ลำขายหน้าท่าได้ กิโลกรัมละ 750 บาท รวมแล้วกว่า 20,000 บาท และดอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณปากน้ำกลาย ซึ่งก็เป็นจุดเดียวกับที่จะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก ยังมีปรากฏการณ์ธรรมชาติจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ(ลมว่าว) และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้(ลมพลัด) ที่เป็นต้นกำเนิดทำให้เกิดลมหมุนเวียนตลอดทั้งปีจากทะเลไปปะทะเทือกเขาหลวงในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา เรียกว่า "ลม 8 ทิศ" ถือเป็นส่วนหนึ่งระบบนิเวศทางทะเลมีผลต่อการออกหาอาหารและเคลื่อนย้ายถิ่นของสัตว์น้ำ

"อนาคตเชื่อว่าจะเกิดนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องในบริเวณนี้ เพราะตามแผนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ต้องการให้มีการลงทุนด้านปิโตรเคมี 2 หมื่นไร่ และแผนของบริษัทเชฟรอนฯ อาจมีการวางท่อก๊าซอีกด้วย เชื่อว่าลม8ทิศจะพัดพามลพิษจากชายฝั่งเข้าสู่พื้นที่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ถูกกั้นไว้โดยเขาหลวงที่อยู่ด้านหลัง จะสร้างอันตรายต่อสุขภาพของคนในจังหวัด" นายประสิทธิชัยกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง