สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า ในช่วงต้นปี 2013 ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะต้องเผชิญ คือ การสิ้นสุดนโยบายลดภาษีของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้ โดยจะส่งผลให้รัฐบาลใหม่ ต้องเผชิญกับความเสี่ยง ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "หน้าผาทางการคลัง" และการปรับลดรายจ่ายในภาครัฐ อย่างไรก็ตามโอบาม่าสามารถเจรจากับรีพับลิกันได้ทันทีภายหลังการเลือกตั้ง เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการรับมือ ก่อนสภาคองเกรสปิดสมัยประชุมในเดือน ธ.ค.
ทั้งนี้ Fiscal Cliff หรือ หน้าผาทางการคลัง เป็นคำที่ใช้อธิบายถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐฯ หลังมาตรการที่เคยใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังจะสิ้นสุดลง และรัฐบาลยังไม่มีมาตรการใหม่ออกมารองรับ โดยมาตรการที่กำลังจะหมดอายุลงนั้น ได้แก่ มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ทั่วไปสำหับคู่สมรสให้น้อยลง มาตรการยกเลิกภาษีมรดก และมาตรการผ่อนปรนภาษี 2% ที่เก็บจากรายได้ของผู้ที่มีเงินเดือน หรือ Payroll - tax cut ซึ่งถูกนำมาใช้ในสมัยการเลือกตั้งของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช และมาตรการลดสวัสดิการแก่ผู้ว่างงาน ก็กำลังจะหมดอายุลงในปี 2556 เช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถลดรายจ่ายลงได้ถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทย)
ขณะที่เอพีมองว่า เมื่อโอบามาชนะเลือกตั้ง เขาถือว่าชาวอเมริกันเห็นชอบในการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจและลดหนี้ด้วยการขึ้นภาษีครัวเรือนที่มีรายได้เกิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ราว 7.75 ล้านบาท/ปี) และเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาพลังงาน การศึกษา การอบรมวิชาชีพ การผลิตและโครงสร้างพื้นฐาน โดยโอบามาจะใช้ช่วงปีแรกของสมัยที่ 2 แก้ตัวเรื่องปฏิรูปคนเข้าเมืองด้วยการทำให้ผู้ลอบเข้าเมืองหลายล้านคนได้สัญชาติอเมริกันโดยไม่มีการเนรเทศหรือนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำผิดกฎหมาย
สำหรับนโยบายต่างประเทศนั้น โอบามาจะยังคงให้ความสำคัญต่อการสกัดไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย กระชับสัมพันธ์กับเอเชีย และสกัดไม่ให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางหลังการลุกฮือลุกลาม ขณะเดียวกันเขาต้องหารัฐมนตรีใหม่มาเสริมทัพ เพราะรัฐมนตรีหลายคนแสดงเจตนารมณ์ว่าจะขอวางมือ ได้แก่ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลัง และนายลีออน พาเนตตา รัฐมนตรีกลาโหม
ส่วนในประเทศไทย นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า พรรคเดโมแครตมีแนวนโยบายเสรีนิยม และใช้มาตรการผ่อนปรนเป็นหลัก เน้นหัวก้าวหน้า ซึ่งโอบามาจะให้ความสำคัญกับนโยบาย "Change" หรือการเปลี่ยนแปลง และหากได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย ก็จะให้ความสำคัญกับนโยบาย "Forward" หรือไปข้างหน้า เป็นเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่อเนื่องที่สานต่อนโยบายได้ทันที โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่ 3 หรือ Quantitative Easing: QE3 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ถดถอย ให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นในอเมริกาเป็นบวก เพราะคนอเมริกามีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการตลาดหุ้น
จากกรณีดังกล่าวจะทำให้เกิดความต่อเนื่อง และจะเกิดการจ้างงาน มีการบริโภคภายในประเทศ ที่มีสัดส่วนถึง 50% เมื่อมีการจับจ่าย มีกำลังซื้อเกิดขึ้น ก็จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจโลก เชื่อมโยงกันถึงยุโรป ญี่ปุ่น อาเซียน และก็จะส่งผลถึงไทยด้วย การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯก็จะขยายตัวดีขึ้น