ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เวทีรับฟัง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม - อนุ กมธ.เสนอปลดล็อคระบบสัมปทาน

เศรษฐกิจ
7 พ.ค. 58
08:46
219
Logo Thai PBS
เวทีรับฟัง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม - อนุ กมธ.เสนอปลดล็อคระบบสัมปทาน

อนุกรรมาธิการวิสามัญ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากเวทีรับฟังความเห็นประชาชน ชี้ว่าระบบการจัดเก็บรายได้ทั้ง 3 ระบบ มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน พร้อมเสนอให้มีการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิตของปิโตรเลียมจากเดิมที่มีเพียงรูปแบบสัมปทาน และยืนยันว่าข้อเสนอที่จะเสนอไปยังรัฐบาลจะเป็นข้อเสนอที่สร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศ

วันนี้ (7 พ.ค.2558) ที่สโมสรนายทหารอากาศ บางซื่อ กรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเวทีฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามที่กรรมาธิการด้านพลังงานได้ตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมา  3  ชุด ได้แก่ ชุดศึกษาปัญหาบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ชุดศึกษาปัญหา พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และชุดพิจารณาแผนงานรับฟังความเห็นประชาชน โดยในช่วงเช้าเป็นสรุปผลการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาจากคณะอนุ กมธ.ทั้ง 3 ชุด

อนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ได้ศึกษาทั้งในระบบสัมปทานและการแบ่งผันผลผลิต แต่รูปแบบแบ่งปันผลผลิตจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย พล.ท.อำพน ชูประทุม ประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ระบุว่าการศึกษาแนวทางการแก้ พ.ร.บ.กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมที่พึ่งพาตัวเองมากขึ้น ในระยะเร่งด่วนเห็นว่าควรแก้ไขกฎหมายให้เปิดกว้างเพื่อให้มีทางเลือกนำระบบต่างๆมาใช้ พ.ร.บ.ปิโตเลียม ได้แก่ ระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งจะต้องแก้ไขในมาตรา 23 ที่กำหนดว่าการสำรวจปิโตรเลียมที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องได้รับสัมปทานจากรัฐ  แม้จะมีมาตรา 61 ที่ควบคุมการดำเนินงานอยู่ก็ตาม รวมถึงแก้ไขมาตรา 56 ที่ระบุว่าผู้รับสัมปทานมีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียม นอกจากนี้ยังควรกำหนดให้คณะกรรมการปิโตรเลียมและบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติต้องมีสัดส่วนภาคประชาชน

ขณะที่อนุกรรมาธิการวิสามัญ พ.ร.บ.เงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ศึกษาในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้รัฐจากกิจการปิโตรเลียมทั้งระบบ ได้แก่ ค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และค่าภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
นายประภาศ คงเอียด อนุ กมธ.ฯ ระบุว่าการเก็บค่าภาคหลวงควรกำหนดให้ผู้ได้รับสัมปทานมีหน้าที่เสียภาษี ณ ที่ผลิต ให้ถือเป็นทั้งแหล่งผลิตและขาย อัตราการเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมให้คิดเป็นร้อยละจากมูลค่าในแต่ละช่วง โดยไม่ต้องมีปริมาณกำกับ และเพิ่มกำหนดอัตราปริมาณต่อบาร์เรล นอกจากนี้ยังเสนอให้การประกอบกิจการปิโตรเลียมไม่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

ในส่วนของภาคประชาชนที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีวันนี้ มงคล หมวกคำ เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานภาคใต้ บอกว่าข้อมูลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญเป็นการศึกษาที่ชี้ให้เห็นข้อมูลเชิงวิชาการที่พอจะมาสามารถใช้เป็นทางเลือกในการตัดสินใจระดับนโยบายได้  ส่วนความคิดเห็นของภาคประชาชนจะเป็นสิ่งสะท้อนความจริงในแง่มุมผลกระทบด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบทางสังคม ซึ่งอาจจะถือเป็นผลกระทบจากกระบวนการปลายน้ำของกิจการปิโตรเคมี ทั้งนี้ก็ต้องการเห็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริง

การตั้งคณะกรรมาธิการ 3 ชุด เพื่อศึกษาปัญหา ฝ่ายนิติบัญญัติยืนยันว่ากระบวนการทำงานไม่เหมือนกับการทำงานในสภาสภาวะปกติ แต่มีเพียงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ก็ยืนยันว่าจะนำเอาข้อคิดเห็นที่ได้เสนอต่อสภาและรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้กรอบเวลาในการศึกษาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศไว้ว่าจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 90 วัน หรือวันที่ 12 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ถูกมองว่าเป็นข้อจำกัดในการศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างละเอียดของระบบจัดเก็บรายได้ปิโตรเลียม สำหรับการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาปิโตรเลียมจะเป็นเพียงการนำเสนอทางเลือกให้กับรัฐบาลเท่านั้น แต่การตัดสินใจจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือเดินหน้าการให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง