“ไทยพรีเมียร์ลีก” ประสบความสำเร็จด้านการตลาด
ปีที่ 3 ของการก่อตั้งบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกเริ่มทำผลกำไร และบริษัทมีการเติบโตทาด้านการตลาดสูงกว่า 100 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้านี้ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา โครงสร้างของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกโดยมี ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง เป็นประธานโดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ร้อยละ 55 กำลังถูกตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสม เพราะในแง่การบริหารที่ต้องโปร่งใสนั้นบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกไม่ควรมีความเกี่ยวพันกับสมาคมฟุตบอล
แต่ในทางปฎิบัติบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกกลับอยู่ในฐานะบริษัทลูกของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยโดยมีผู้บริหารสมาคมฟุตบอลถึง 3 คน เข้ามานั่งในตำแหน่งบอร์ดบริหาเพื่อดูแลนโยบายในการทำงาน ในขณะที่ ดร.วิชิต มองว่าเป็นเรื่องปกติไม่ต่างจากปลายประเทศทั่วโลกที่มีการส่งผู้แทนของสมาคมเข้ามาเป็นบอร์ดบริหาร
ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ชี้แจงว่าบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกไม่มีความชำนาญด้านการตลาดจึงจำเป็นต้องหามืออาชีพเข้ามาดูแล เพื่อให้ลีกอาชีพของไทยอยู่ได้ด้วยตัวเอง และเป็นไปตามกลไกตลาดฟุตบอลอาชีพ โดยในปีนี้ของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกสามารถขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่มีมูลค่าเกือบ 300 ล้านบาท ซึ่งเงินทั้งหมดจะถูกส่งไปยังสมาคมฟุตบอลในฐานะบริษัทแม่ ในขณะที่สมาคมดูแลค่าใช้จ่ายด้วยการแบ่งผลประโยชน์ และค่าบำรุงทีมให้แต่ละสโมสรรวม 150 ล้านบาท รวมถึงค่าจ้างกรรมการ และการดำเนินการจัดการแข่งขันบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก
แม้สมาคมฟุตบอลจะถูกมองว่ามีผลประโยชน์ในการเข้ามานั่งในโครงสร้างการบริหารของบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเพียงก้าวแรกของการก่อตั้งบริษัทจัดการแข่งขันซึ่งมีจุดอ่อนที่ต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป อนาคตผู้ถือหุ้นในบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกต้องเป็นสโมสรสมาชิกเพื่อความมีอิสระในการบริหาร
ขณะที่สมาคมฟุตบอลมีหน้าที่เพียงการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับโครงสร้างในการทำงานของบริษัท พรีเมียร์ลีก หรือ บุนเดสลีกา เยอรมนี ที่สโมสรฟุตบอลเป็นผู้ถือหุ้น และเป็นผู้บริหารหารายได้เข้าบริษัท สมาคมฟุตบอลมีรายได้เพียงร้อยละ 3 ซึ่งเป็นส่วนแบ่งจากรายได้ทั้งหมดเท่านั้น