ยูเนสโกสำรวจความเสียหายของโบราณสถานในเนปาล
กลุ่มผู้นับถือศาสนาเชน รวมตัวทำพิธีสวดภาวนาให้กับผู้เสียชีวิตในวาระครบรอบ 13 วันหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในเนปาล ซึ่งศาสนาเชนมีความเชื่อว่าวันนี้ (7 พ.ค.2558) เป็นวันสำคัญที่จะสวดภาวนาเพื่อปลดปล่อยดวงวิญญาน โดยผู้เข้าร่วมในพิธีแต่งกายด้วยชุดสีขาว ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวแล้ว 7,675 คน บาดเจ็บ 16,300 คน และคาดว่าตัวเลขจะสูงกว่านี้ เนื่องจากมีประชาชนอีกหลายพันคนสูญหาย
ด้านทีมนักอนุรักษ์และสถาปนิกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้สำรวจแหล่งโบราณสถานที่เมืองภัคตะปูร์ เพื่อประเมินความเสียหายหลังแผ่นดินไหว ขณะที่ก่อนหน้านี้กรมโบราณคดีของเนปาล ระบุว่ามีโบราณสถานเสียหายจากแผ่นดินไหวในเนปาลประมาณ 200 แห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่จัตุรัสเดอร์บาร์ 3 แห่งของกรุงกาฐมาณฑุ เมืองภัคตะปูร์และปาทาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาหลายปีในการบูรณะ หรือสร้างใหม่ รวมทั้งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
เจ้าหน้าที่ยูเนสโก เปิดเผยว่าจะต้องใช้เวลา 1 เดือนในการสำรวจและประเมินความเสียหายของโบราณสถาน เนื่องจากกระบวนการสำรวจจะต้องทำอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน นอกจากนี้องค์การยูเนสโกได้เสนอความช่วยเหลือร่วมกับนานาชาติ เพื่อฟื้นฟูแหล่งโบราณสถานในเนปาลให้กลับคืนสภาพเดิม เนื่องจากเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวประมาณปีละ 800,000 คน
ขณะที่วิศวกรอาสา 2,400 คน สำรวจอาคารและบ้านเรือนในเนปาล โดยพบว่าร้อยละ 20 ของอาคาร บ้านและสิ่งปลูกสร้างในกรุงกาฐมาณฑุ อยู่ในสภาพที่เสียหายรุนแรง ถึงแม้ว่าตัวอาคารจะไม่ถล่ม แต่โครงสร้างอาคารและพื้นฐานไม่แข็งแรงพอที่จะซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้อีก ดังนั้นต้องทุบอาคารทิ้ง หรือปล่อยให้ถล่มลงมาก่อนจะสร้างใหม่ ส่วนอาคารร้อยละ 30 ยังสามารถซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานใหม่ได้ และร้อยละ 50 ซึ่งมีทั้งบ้าน โรงพยาบาล สำนักงาน โรงแรมและโรงเรียนหลายแห่งยังอยู่ในสภาพแข็งแรงสามารถเข้าไปพักอาศัยได้
อาคารส่วนใหญ่ในกรุงกาฐมาณฑุ เคยเสียหายจากแผ่นดินไหวเมื่อปี 2477 แม้ว่านักธรณีวิทยาจะเคยเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาล แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ทำให้การก่อสร้างอาคารรวมถึงการต่อเติมไม่มีการวางแผนรับมือแผ่นดินไหวและส่วนใหญ่ใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน