ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เพลงประกอบเกมในกลุ่มผู้ฟังเพลงคลาสสิก

Logo Thai PBS
เพลงประกอบเกมในกลุ่มผู้ฟังเพลงคลาสสิก

เป็นสื่อบันเทิงที่มีกลุ่มผู้ติดตามที่แตกต่างกันอย่างมากแต่เพลงวิดีโอเกม กลับสร้างนักฟังเพลงหน้าใหม่ให้กับวงการเพลงคลาสสิกเมื่อการพัฒนาคุณภาพดนตรีประกอบวิดีโอเกม จนเป็นที่ยอมรับของผู้ฟังเพลงคลาสสิกมากขึ้นเรื่อยๆ จนสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำหลายแห่งในสหรัฐได้เปิดหลักสูตรการประพันธ์ดนตรีสำหรับวิดีโอเกมขึ้นมาโดยเฉพาะ

จากที่เคยคุ้นหูในเวอร์ชั่นเพลง 8 บิต มานานเกือบ 3 ทศวรรษ วันนี้เพลง Prelude จากเกม rpg อมตะอย่าง Final Fantasy ถูกดัดแปลงให้บรรเลงโดยวงออร์เคสตร้าขนาดใหญ่มาแล้ว นอกจากสร้างความประทับใจให้กับเหล่าเกมเมอร์ ยังเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ฟังเพลงคลาสสิกอีกด้วย โดยล่าสุดได้คะแนนโหวตจากผู้ฟังรายการวิทยุ Classic FM ของอังกฤษ ติดอันดับ 9 ของการจัดอันดับเพลงคลาสสิกยอดนิยมประจำปี หรือ Classic FM Hall of Fame ถือเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ที่ผลงานประพันธ์ของ โนบุโอะ อุเอมาสึ มีชื่อในอันดับท็อปเทน

ปีนี้เพลงจากวิดีโอเกมถูกโหวตเข้ามาติดอันดับ Classic FM Hall of Fame เพิ่มจาก 8 เป็น 12 เพลง ตั้งแต่ดนตรีประกอบเกมอมตะอย่าง World of Warcraft และ Halo จนถึงเกมยอดฮิตแห่งยุคทั้ง The Elder Scrolls ของ เจเรมี โซล และ The Last of Us ที่ได้ กุสตาโว ซัลเตาลัลย่า นักประพันธ์ซาวด์แทร็กดีกรีรางวัลออสการ์ มาแต่งดนตรีประกอบให้โดยเฉพาะ

แม้จุดประสงค์หลักคือเป็นเพลงประกอบเกมที่ต้องใช้เวลาเล่นที่ยาวนาน แต่ผู้ผลิตก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของดนตรีประกอบเกมอยู่เสมอ บริษัทชั้นนำอย่าง Capcom และ Konami ได้ตั้งทีมงานเพื่อแต่งดนตรีประกอบเกมของตนโดยเฉพาะ นักแต่งเพลงบางรายยังก้าวไปสู่การเป็นผู้ประพันธ์ซาวนด์แทร็กระดับแถวหน้า เช่น ไมเคิล เจียคีโน ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบเกม Medal of Honor ที่กลายเป็นมือแต่งสกอร์ให้กับหนังและการ์ตูนดังหลายเรื่องในเวลาต่อมา โดยปี 2012 เวทีแกรมมี อวอร์ดส์ ได้มอบรางวัลให้กับดนตรีประกอบวิดีโอ เกม ในสาขา Visual Media

โดยสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำหลายแห่งในสหรัฐได้เปิดหลักสูตรการประพันธ์ดนตรีสำหรับวิดีโอเกมโดยเฉพาะ รวมถึง Gamer Symphony Orchestra ที่นักศึกษาดนตรีจากสถาบัน Berklee College of Music ก่อตั้งขึ้นเพื่อนำเพลงจากเกมมาเล่นในวงออร์เคสตร้าโดยเฉพาะ จอห์น ซูเชต ดีเจของ Classic FM ยอมรับว่าความสำเร็จของดนตรีประกอบจากวิดีโอเกมดัง มีส่วนชักนำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจดนตรีคลาสสิกมากขึ้น ซึ่งปี 2558 มีผู้ร่วมโหวตหาเพลงคลาสสิคในดวงใจร่วมกันกว่า 200,000 คน

ขณะที่ผลการโหวตปีนี้ ถือเป็นการครองแชมป์ครั้งที่ 6 ของ The Lark Ascending ผลงานไวโอลินประกอบวงออร์เคสตร้าอันโด่งดังของ ราล์ฟ ฟาน วิลเลียมส์ คีตกวีชาวอังกฤษ ขณะที่อันดับที่ 2 ตกเป็นของ Piano Concerto No. 2 งานประพันธ์ลือลั่นของ เซอร์เกย์ แรคมานินอฟ คีตกวีชาวรัสเซีย ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ฟังรุ่นใหม่มากขึ้นหลังถูกใช้ประกอบแอนิเมชั่นของญี่ปุ่นมาแล้วมากมาย ทั้ง Fairy Tail, Gankutsuou และ Nodame Cantabile การ์ตูนเรื่องดังที่เล่าถึงชีวิตนักศึกษาดนตรีคลาสสิก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง