นักวิชาการนิเทศฯ ชี้ “สื่อไม่ต่อสู้กับอำนาจ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจแล้ว”
ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต รณนันท์ รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ทำการเปิดตัวเว็บไซต์ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า “สื่อไม่ต่อสู้กับอำนาจ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจแล้ว” เป็นการสะท้อนมุมมอง ดังนี้
ถาม ถ้ามองปัญหาสื่อมวลชนทั้งระบบ อาจารย์ว่าสื่อบ้านเรามีปัญหาอะไรมั้ย
ตอบ มีปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงปฏิบัติ ก็คือยังไม่มีการปฏิรูป ขอพูดเรื่องการปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์ก่อน เราพูดกันมาตั้งแต่ปี 2535 แล้วเรื่องการปกระจายคลื่น เพราะมันชัดเจนว่ามันถูกถือครองโดยรัฐและควบคุมโดยรัฐ แต่จนถึงปัจจุบัน หนึ่งคือยังไม่เกิด กสทช. สองคือมีการกลับเข้ามาของอำนาจเก่าและทุนที่กุมสื่อด้วย ยิ่งดูเส้นทางของ กสทช. ฝั่งของการสรรหา ก็จะเห็นตัวที่ถูกส่งมาโดยทหารและธุรกิจ ตัวเป้าหมายที่จะปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจออก ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะมีอำนาจเก่ากลับเข้ามาในพื้นที่อำนาจใหม่
ถาม การถือครองโดยรัฐ เป็นอุปสรรคตรงไหน ในเมื่อทุกวันนี้คนทำสื่อวิทยุโทรทัศน์ ก็แทบไม่รู้ตัวเลยว่าคลื่นของเขาถูกถือครองโดยรัฐ เพราะคลื่นมันถูกเช่าช่วงกันมาตั้งหลายทอด เขาก็ทำงานได้
ตอบ วิทยุค่อนข้างถูกปลดปล่อยไปเยอะ โดยเฉพาะวิทยุชุมชน ดูในแง่ landscape นะ เพราะมีคลื่นใหม่ 7-8 พันคลื่น เฉพาะวิทยุชุมชนจดทะเบียน 6,511 คลื่น ก็มีทั้งธุรกิจท้องถิ่น เอ็นจีโอ กลุ่มชาวบ้าน แต่ก็เห็นได้ว่า landscape วิทยุที่ไม่ใช่ของรัฐ มันเอียงมาทางประชาชนแล้ว แต่ทีวียังไม่หลุด ช่วงเวลาปกติเราก็ดูอะไรบ้าๆบอๆไป แต่ในช่วงเวลาวิกฤต เราก็จะเห็นว่ามันกลับไป serve รัฐ ซึ่งรัฐก็สถาปนา back โดยทหาร
ถาม ถ้าเราทะลายอุปสรรคการถือครองโดยรัฐออกไปได้ ผลดีที่จะเกิดขึ้นคืออะไร
ตอบ จริงๆก็ต้องบอกว่าไม่ทราบ แต่ตอนนี้ประเด็นสำคัญอยู่ที่โอกาสของการที่คลื่นจะหลุดออกมามัน ยังไม่เกิดเลย ทุกวันนี้มันควบคุมแบบ by default คือไม่ใช่โดยตรง แต่มันถูก design มาอย่างนั้น ในที่สุด default นี้ก็คือ การทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า ความอยู่รอดทางธุรกิจมันต้องเกรงใจใครบ้าง
การปฏิรูปโครงสร้าง จะเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งว่า โอกาสใหม่ๆมันจะเกิดขึ้น ขอโยงมาเรื่องที่ตัวเองกำลังทำอยู่ คือพยายามจะผลักดันให้ผู้ผลิตรายการ ทำเนื้อหาคุณภาพหน่อย จะเป็นละคร ข่าว สารคดี รายการเด็กก็ตาม ต้องรับผิดชอบในแง่ที่ว่า ทำให้มันเป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้างไม่มากก็น้อย นี่เป็นระดับปฏิบัติการ
ถาม แล้วปัญหาของสื่อหนังสือพิมพ์
ตอบ ขอมองใน 2 ระดับ คือหนึ่ง-เรื่องอุดมการณ์ความคิด สื่อหนังสือพิมพ์ในภาพใหญ่ยังพยายามรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ในอดีตเราเคยมีนักหนังสือพิมพ์ที่ต่อสู้กับเผด็จการความไม่เป็นธรรม อย่าง กศร.กุหลาบ อิศรา อมันตกุล คือมีเป้าหมายในวิชาชีพที่จะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม แต่ตอนนี้อุดมการณ์ อันนั้นมันหายไปแล้ว อันที่จริง อุดมการณ์วิชาชีพเป็นอย่างหนึ่ง เป้าหมายการทำงานก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่มันต้องไปด้วยกัน คือถ้าเขาไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เคยทำมานั้นต้องเปลี่ยนแปลง เขาก็จะรักษาวิธีทำงานอย่างเก่านั้นไปเรื่อยๆ พูดอีก อย่างหนึ่งคือ อยู่ใน complacent รู้สึกพอใจภาวะที่เป็นอยู่
ไม่อยากตีขลุมนะ ก็มีความพยายามทำอะไรดีๆ จากสื่อจำนวนหนึ่ง เช่น สถาบันอิศรา แต่การเปลี่ยนแปลงภาพรวมของสื่อนี่ยังไม่เห็น แต่นั่นแหละ ก็มีคนพูดว่าต้องดูบริบทของแต่ละยุค อย่างยุคทักษิณ ก็จะเห็นว่าสื่อถูกกระทำเยอะ เช่น ตรวจสอบเจ้าของสื่อ ซื้อหุ้นมติชนโดย GMM ปลดนักข่าวที่เสนอเรื่องรันเวย์สุวรรณภูมิร้าว สร้างสื่อของตัวเองบ้าง ใช้ธุรกิจแทรกแซงต่างๆนานา มันเป็น conflict ที่กระทบสื่อโดยตรง พอเกิดปฏิวัติ 2549 คมช.มาแนวใหม่ open กับข้อเสนอของสื่อมาก ให้เกียรติมาก ทำสิ่งที่ทักษิณไม่ทำ
จำได้ไหม สมัยนั้นมีการแต่งตั้ง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) จากหัวหน้าองค์กรสื่อ ตัวแทนสมาคมฯ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ คือดึงเอาแกนหลักของ Journalist ไป นี่คือการ co-optation ทางอำนาจ ไม่ใช่ co-operation นะ cooptation (ย้ำ) เปิดช่องให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายสื่อ เช่น พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ พรบ.ประกอบการ พรบ.คอมพิวเตอร์ พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พรบ.สื่อสาธารณะไทยพีบีเอส ไม่ได้ บอกว่าดีหรือไม่ดี แต่กฎหมายเป็นตัวกำหนดช่องทางอื่นๆ ภายในปีกว่าๆ สนช.ออกกฎหมายมา 5 ฉบับ เหมือนเปิดพื้น ที่เปิดเสรีภาพมาก
ถาม สื่ออ่านไม่ออกหรือว่า co-optation นี้เพื่ออะไร
ตอบ มันก็อาจเป็นเรื่องของโอกาสหรือ opportunity สื่อเห็นเป็นโอกาส เกิดเป็นโครงสร้างอำนาจอีกอย่างหนึ่ง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง สื่อก็เหลือ aguement เดียว ภาพรวมๆก็คือ สื่อเป็นชนชั้นกลางในเมืองนั่นแหละเคยไปสัมมนางานหนึ่ง มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยภาคอิสาน ตั้งคำถามตรงๆเลยว่า ทำไมสื่อสมคบกับทหาร อะไรอย่างนี้ แล้วก็มีตัวแทนสื่อตอบว่า คมช.น่ะเห็นความสำคัญของเสรีภาพสื่อมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง... นี่เลย quote ได้เลย
ถาม มันเป็นปฏิกิริยาตามสถานการณ์หรือเปล่า คือเมื่อสื่อถูกกระทำ เขาก็จะต่อสู้ ซึ่งอ้างว่าสู้เพื่อเสรีภาพประชาชน พอถึงรัฐบาลที่ทำเนียนๆเปิดพื้นที่ สื่อก็ complacent อย่างที่ว่า
ตอบ เป็นโอกาสมากกว่า เป็นความมั่นคงด้วย ภาพใหญ่มันหายไป สื่อส่วนหนึ่งที่รู้จักมา เขาก็อนุรักษ์นิยมจังเลย ยังพูดถึงอุดมการณ์นักหนังสือพิมพ์อย่างเก่าอยู่
ถาม ที่อาจารย์ว่าอุดมการณ์อย่างเก่ามันหายไป มันหายไปไหน
ตอบ สื่อเป็นธุรกิจ เขาต้องทำกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องกระจายความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ต้อง diversify หมด กระจายความเสี่ยงในที่นี้ ก็มีตั้งแต่ต้องทำสินค้าสื่อหลายตัว หาจุดขาย niche ไม่ทำอะไรเสี่ยง มันไม่ใช่การต่อสู้ในทาง politic แล้ว แต่เป็นการต่อสู้ในทาง economic ความอยู่รอดของธุรกิจมันสำคัญมาก เพราะองค์กรสื่อไม่ใช่ทำได้ด้วยคน 4-5 คน
ถาม แล้วสื่อตัวเป็นๆหรือที่เป็นคนๆไป เขาก็มีสำนึกเรื่องอุดมการณ์วิชาชีพอยู่ แต่ก็ทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำ จะอธิบายว่าอย่างไร
ตอบ ถ้ามองสองฝั่งของการต่อสู้ ตอนนี้สื่อไม่ได้ต่อสู้กับอำนาจ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจแล้ว เมื่อก่อนฐานันดรที่สี่ เป็นเอกเทศไม่ belong อำนาจใด ต่อสู้เพื่อนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่สังคม แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะสื่อก็ตาม ชนชั้นกลางชนชั้นสูงก็ตาม ก็หลอมรวมกันไปหมดในโครงสร้างอำนาจเดียวกัน ลองดูกรรมาธิการชุดต่างๆสิ มีคนเหล่านี้อยู่ทั้งนั้น
เล่าสู่กันฟังเรื่องหนึ่ง คุณอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี เหมือนเป็นคนงานยุ้งยุ่งนะ แต่งานสื่อไม่เคยพลาดเลย ครั้งหนึ่งมีงานแจกรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นที่ไทยรัฐ ลูกศิษย์เราได้ โดยหน้าที่เราต้องไป แต่วันนั้นติดอะไรยุ่งจริงๆ ลูกศิษย์กลับมาบอกอาจารย์ไม่ไปน่ะดีแล้ว ไม่มีใครสนใจเราหรอก ต้องหาเก้าอี้นั่งเองด้วยซ้ำ เพราะนายกไป... สังเกตงานสื่อดูสิ นักการเมืองไม่พลาดหรอก เขาต้องอิงกันอยู่
เพราะฉะนั้นสรุปได้เลยว่า การต่อสู้กับอำนาจไม่มีแล้ว เพราะสื่อเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างอำนาจเสียแล้ว
กลับมาพูดถึง landscape สื่อที่เปลี่ยนไป มันมีเรื่องเทคโนโลยีและสื่อใหม่ที่เป็นตัวขับดันด้วย internet user บ้านเราอาจจะยังไม่มากเมื่อเทียบกับการใช้กว้างขวางแทบทุกครัวเรือนในต่างประเทศ เพราะการรับข่าวสารของเขา 80-90% มันผ่านอินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์แทบไม่มีใครอ่าน นักธุรกิจใหญ่อยากได้ข้อมูลเชิงลึก เขาก็ไม่อ่านหนังสือพิมพ์แล้ว อย่างรอยเตอร์ สำนักข่าวระดับโลก ซึ่งเก่าแก่เป็นร้อยปี ยังหันมาทำ investigative ทำข่าวที่เป็น authoritative news ตอบสนองเฉพาะกลุ่ม เขาบอกเขาเป็นสื่อเขาขายข่าว ไม่ได้ขาย banner แล้วเขาก็ขายโดย subscription
ตอนนี้ สื่อสารมวลชนที่เป็น authority แบบดั้งเดิม ก็ค่อนข้างหลุดๆไปจากคนรุ่นใหม่ เทรนมันเป็นแบบนี้ คนรุ่นใหม่อ่านแต่เฟสบุ๊ค คือเรื่องที่เพื่อนๆเขาพูดกัน อยากรู้แค่นั้น อำนาจของข่าวสารก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ สื่อหนังสือพิมพ์อีกไม่นานก็จะพับฐาน
ถาม เขาก็เตรียมตัวกันอยู่ คือย้ายฐานไปออนไลน์
ตอบ ตอนนี้ยังมีคนรุ่นเรา พวก 35 up ยังอ่านอยู่ แต่อีก 10-15 ปี เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่อ่านอะไรเลย จะเป็นจุดวิบัติของหนังสือพิมพ์
ถาม เป็นจุดวิบัติของสังคมด้วย
ตอบ ใช่...เป็นจุดวิบัติของสังคม
ถาม ในสังคมผิวเผินสั้นทันด่วน เว็บไซต์ข่าวเจาะอย่าง TCIJ. จะอยู่รอดไหม
ตอบ นี่สวนกระแสมาก ขอบอก
ถาม สวนกระแสหรือมีกระแสเล็กๆกันแน่ เพราะมีคนต้องการทางเลือก อย่างรอยเตอร์หรือรูเพอร์ต เมอร์ด็อค เจ้าพ่อสื่อก็เคยพูดว่า หนังสือพิมพ์จะอยู่รอดได้ต้องทำข่าวเจาะลึก ในเมืองไทย ก็มีคนบอกว่า ข่าวเหตุการณ์รายวัน ทีวีวิทยุเขาเร็วกว่า เอาข่าวหนังสือพิมพ์ไปอ่านด้วยซ้ำ แล้วหนังสือพิมพ์จะเอาอะไรไปแข่งสู้ นอกจากจะต้องเจาะลึกกว่า
ตอบ ก็จริง แต่ปัญหาก็คือจำนวนคนอ่านก็จะเล็กเป็น quality niche audience ถามว่ายังควรต้องทำไหม ก็ต้องทำ เพราะยังมีคนต้องการทางเลือกเพื่อจะรู้อะไรให้ลึกและชัดแจ้ง ยังไงก็ต้องทำ
ขอกลับมาที่เรื่อง citizen journalist หรือนักข่าวที่ไม่ใช่นักวิชาชีพ ข้ออ่อนคือการเสนอข่าวที่เป็นความเห็นเน้น what happen / what I think ไม่อธิบายตัวปรากฎการณ์ ซึ่งนักข่าวอาชีพเขาแย้งว่ามันไม่เป็น objective คุณมีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้
ถาม แต่ citizen journalist เขามีมุมมองที่ care กับปัญหาท้องถิ่นของเขา และเขามองว่าการ voice out นี่เป็นสิทธิ เขาต้องการสะท้อนสิ่งที่หายไปในสื่อกระแสหลัก
ตอบ มันคนละ trend กัน มันสะท้อนประชาธิปไตยแบบพหุนิยม และ diversity สุดขั้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะเทคโนโลยี เมื่อก่อนเราก็ว่า สื่อห้ามครอบงำ ห้ามเป็นเจ้าของข้ามสื่อ ห้าม monopoly แต่จริงๆคือ เมื่อก่อนมีคนกลุ่มเดียวที่ทำสื่อได้ มันก็monopoly ระดับหนึ่ง แต่เวลานี้ถูกทำลายลงด้วยเทคโนโลยี มันก็เป็น aguement เรื่อง monopoly กับ competition คนบางกลุ่มอาจจะชอบ บอกว่า monopoly มีไม่กี่ราย สังคมคาดหวังความรับผิดชอบได้ แต่ เราก็คาดหวังให้เขาทำเพื่อสาธารณะทั้งหมดไม่ได้ เพราะเขาต้อง compete เพื่ออยู่รอด
ถาม ทุกวันนี้ บรรยากาศเลือกตั้งครอบงำสื่อ เราได้เห็นสื่อคอยวิ่งตามนักการเมืองทั้งตัวใหญ่ตัวเล็ก เพื่อจะรายงานข่าวว่าวันนี้นักการเมืองคนนี้ไปหาเสียงที่ไหน คนนั้นพาดพิงว่าคนนี้ว่าอย่างไร คนนี้ตอบโต้คนโน้นว่าอย่างไร ... มันต้องเป็นอย่างนี้จริงๆหรือ
ตอบ ความจริง สื่อจัดดีเบตเองก็ได้ จัดเวทีนำเสนอวาระเชิงนโยบายของพรรคการเมืองก็ได้ จะทำให้ข่าวมีเนื้อหามากขึ้น นี่เป็นส่วนหนึ่งของการ frame ความรับรู้ของประชาชน สื่อไม่ค่อยยอมรับบทบาท framerแต่จริงๆคือเป็น
ถาม เขาบอกไม่ใช่หน้าที่ของ medium นี่ เขาเป็นตัวกลางนำส่งสารเท่านั้น
ตอบ ใช่สิใช่ นี่เป็นบทบาทหน้าที่ของสื่อ ที่จะต้องเปิดพื้นที่ เป็น platform ให้สาธารณะ ต้องมองด้วยว่าตอนนี้สังคมเรามีวิกฤตหลายเรื่อง ต้องช่วยกันทำให้เกิด inform citizen อย่าปล่อยให้นักการ เมืองเป็นผู้กำหนดการรับรู้ของประชาชนฝ่ายเดียวอยู่ทุกวี่วัน อย่างทีวีบอกว่าวันนี้คุณอภิสิทธิ ไปหาเสียงกับกลุ่มวัยรุ่นที่นี่ๆ ถามว่าคุณเป็นสื่อ คุณนั่งอ่าน schedule ของพรรคนั้นพรรคนี้ คุณเป็นโฆษกของพรรคการเมืองไปแล้ว ทำไมไม่ติดตามนโยบายหรือข้อเสนอของ เขาล่ะ ว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไร จริงๆแล้วประชาชนอยากได้อะไร
ถาม ถามกว้างๆเลย ...ปัญหาทั้งหมดที่เราคุยกันมา มันมาจากตัวคนหรือตัวระบบ
ตอบ ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่อย่างองค์กรสื่อในหลายประเทศ เขามี self regulation มีการประกันคุณภาพภายในของเขาเอง อย่างวอชิงตันโพสต์ เขามีเกณฑ์การวัดผลการทำงานของนักข่าว เช่น นักข่าวคนนี้อยู่มากี่ปี สมควรจะมีผลงานข่าวสักกี่ชิ้น เขียน commentary กี่ชิ้น มี performance review อย่างเรื่องข่าวเจาะหรือ investigative report เขาก็ใช้เป็นตัวชี้วัดผลงานของนักข่าวด้วยนะ คือประกันคุณภาพข่าวแก่ลูกค้า คือ คนอ่านหรืออย่างระบบอาจารย์มหาวิทยาลัยนี่ ก็มีว่า 6 เดือนควรทำงานวิจัยได้กี่ชิ้น สอนกี่ตัว... อาจารย์บางคนก็เกลียดมากเลยนะ แต่มันเป็นการชี้วัดได้ระดับหนึ่ง