ชุดประจำชาติบนเวทีประกวดนางงาม
ในฐานะสาวสงขลา จึงตั้งใจแสดงความเป็นตัวตน ผ่านชุดมโนราห์ดั้งเดิมที่เคยใช้แสดงจริง เอกลักษณ์ของรูปแบบ และสีสันที่บ่งบอกวัฒนธรรมความเป็นชาวใต้ ทำให้วรัทยา ว่องชยาภรณ์ หรือ มายด์ รองมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2012 คว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมจากเวทีมิสเอิร์ธ 2012 ที่ประเทศฟิลิปปินส์
ก่อนหน้านี้ชุดไทยได้อวดโฉมบนเวทีประกวดนางงามระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ 40 กว่าปีก่อน จนเมื่อ 24 ปีที่แล้วชุดไทยจักรีประยุกต์สีน้ำเงินอมม่วง สวมใส่โดยปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก คว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมปี 1988 จากเวทีมิสยูนิเวิร์ส โลกยิ่งจับตาเมื่อตัวแทนสาวไทยคว้ารางวัลนางงามจักรวาลจากเวทีเดียวกันนี้
ชุดไทยยังสร้างชื่อในอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา ทั้งสื่อสารถึงวัฒนธรรมไทย และยังมีการออกแบบให้ร่วมสมัยมากขึ้น เช่น ชุดไทยประยุกต์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิราภรณ์ถักด้วย ทองคำไทย โดยมีต้นแบบจากพระมาลา ที่ขุดพบในกรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ชนันภรณ์ รสจันทน์ สวมใส่ได้รับรางวัลชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยม ปี 2005 หรือแม้แต่ชุดของแก้ม กวินตรา โพธิจักร ที่แหวกขนบจากสไบยาว มาในชุดนักมวยโบราณที่ทั่วโลกรู้จัก สวยสง่า แต่เข้มแข็ง จากชุดที่สวมใส่เพื่อบอกความเป็นตัวแทนของแต่ละชาติ มาวันนี้รางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมยังเป็นการอวดฝีมือการดีไซน์ และความคิดสร้างสรรค์ของตัวแทนแต่ละประเทศ
ช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ สถาปัตยกรรมไทยที่จำลองมาเป็นเครื่องประดับศีรษะ และเครื่องแต่งกาย จุดเด่นของชุดโลหะพัตรา ที่ณัฐพิมล นาฏยลักษณ์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์คนล่าสุด นำไปประชันที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ ชุดงามสง่าสะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ ทำให้รางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมได้รับความสนใจ หลายปีมานี้ ตัวแทนหลายชาติออกแบบสร้างสรรค์ในรูปแบบล้ำสมัยมากขึ้น จนบางครั้งถูกวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม แต่กระนั้นอาภรณ์ของนางงามก็ยังถูกจับตาไม่น้อยไปกว่าผู้สวมใส่