ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชำแหละปมขัดแย้งภายใน "ส.อ.ท."

2 ธ.ค. 55
13:20
41
Logo Thai PBS
ชำแหละปมขัดแย้งภายใน "ส.อ.ท."

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ก่อตั้งมานานถึง 45 ปี เป็นครั้งแรกที่มีความขัดแย้งรุนแรงจนแตกหัก แบ่งเป็นฝักฝ่าย ข้อมูลแต่ละฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งมีปมปัญหาที่ไม่ตรงกัน

                         

<"">

ปมแรกฝ่ายนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล เชื่อว่าการตรวจสอบทุจริตโครงการฝึกอบรมฝีมือแรงงานหลังน้ำท่วมเมื่อปี 2554 เป็นชนวนความขัดแย้ง ขณะที่ประเด็นเยียวยาจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท กรรมการอีกฝ่ายเห็นว่ามีการผลักดันในการประชุมหลายต่อหลายครั้ง แต่กล่าวหาว่าประธานเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของสมาชิก

ทันทีที่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายเพิ่มค่าแรง ก่อนการเลือกตั้งปี 2554 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.ได้สัมมนาระดมความเห็นเรื่องนี้ เพื่อเรียบเรียงข้อมูล เสนอรัฐบาลใหม่ โดยมีการสรุปในวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 แต่มีการกล่าวหาว่า นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. พยายามยกเรื่องนี้ออกจากข้อเสนอ ส.อ.ท. แต่ต้านเสียงส่วนใหญ่ของ กรรมการบริหารอื่นไม่ได้
                         

<"">
       
หลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล กรรมการบริหารบางส่วนสรุป ประเด็นข้อเสนอแนะเรื่อง นโยบาย 300 บาทให้กับประธาน ส.อ.ท. ก่อนพบคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2554 ตามมาด้วยการสัมมนาระดมความเห็นหลายต่อหลายครั้งแต่ไม่สามารถทัดทานรัฐบาลได้

ในที่สุด รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำนำร่อง 7 จังหวัด วันที่ 1 เมษายน 2555 มีการทำข้อมูลวิเคราะห์ผลกระทบจากนโยบายนี้ ให้กับนายพยุงศักดิ์ประธาน ส.อ.ท. วันที่ 19 เมษายน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ
                         

<"">

จากนั้นมา สมาชิกในต่างจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ต่างร้องเรียนเกี่ยวกับนโยบายค่าจ้าง 300 บาทอย่างต่อเนื่อง และมีการนำไปหารือในการประชุม คณะกรรมการบริหาร ของ ส.อ.ท. เป็นระยะ ๆ แต่ประธาน ส.อ.ท. ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มักจะตัดบทไม่ให้มีการนำประเด็นดังกล่าวเข้ามาหารือในที่ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท. ทั่วประเทศ วันที่ 24 กันยายน 2555 กรรมการส่วนใหญ่ร่วมกันกดดันประธาน โดยขอให้ตัวประธาน เป็นผู้พาคณะกรรมการเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงความเดือดร้อน จากการปรับค่าแจ้ง 300 บาท ซึ่งมีรายงานว่านายพยุงศักดิ์ บ่ายเบี่ยง โดยให้ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบ และแนวทางข้อเสนอแนะก่อนไปเข้าพบนายกรัฐมนตรี

คณะทำงานที่ตั้งขึ้นจึงเริ่มประชุมในวันเดียวกัน และได้ข้อสรุปเสนอต่อประธาน ส.อ.ท.ในวันดังกล่าว พร้อมขอให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.บรรจุเรื่อง 300 บาท ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. ที่เกาะสมุย ในเดือน ตุลาคม 2555

ที่ประชุม กกร. วันที่ 1 ตุลาคม ได้เห็นชอบ ข้อเสนอเรื่อง 300 บาทของ ส.อ.ท. และเสนอบรรจุเข้าเป็นวาระในการประชุม กรอ.ที่เกาะสมุย วันที่ 21 ตุลาคม แต่ก่อนการประชุม กรอ.เพียง 2 ชั่วโมง มีการถอนวาระเรื่อง 300 บาท ออกจากที่ประชุม ซึ่ง ประธาน ส.อ.ท. ยินยอมให้ ฝ่ายเลขานุการถอนวาระออก สร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกและกรรมการ ส.อ.ท.บางส่วน

กรรมการ ส.อ.ท.บางคนแสดงความเห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายพยุงศักดิ์ ประธานไม่แสดงความเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเรื่องผลกระทบของนโยบาย 300 บาท รวมถึง การขัดขวางกรรมการท่านอื่นในการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้

ท้ายสุด จึงนำเรื่อง 300 บาทเข้า กกร.อีกครั้ง จนเป็นที่มาของการตั้งคณะทำงานของ กกร.ขึ้นมา ในเดือน พฤศจิกายน 2555 ขณะที่ความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายนี้ของนายพยุงศักดิ์ คือการทำ Workshop ของ ส.อ.ท. ในวันที่ 20 พฤศจิกายน แต่ถูกวิจารณ์ว่าสายเกินไป เพราะทำหลังจากที่ ครม.อนุมัติปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศไปแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง