ไทย-กัมพูชาชี้แจงศาลโลกวันนี้

ต่างประเทศ
30 พ.ค. 54
02:03
24
Logo Thai PBS
ไทย-กัมพูชาชี้แจงศาลโลกวันนี้

ผลพวงจากการปะทะด้านชายแดน จ.สุรินทร์ เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากกัมพูชาปฏิเสธที่จะเจรจาทวิภาคีกับไทย แล้วยังได้ยื่นคำร้องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 และ ร้องขอให้ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราว 3 ข้อด้วยกัน ซึ่งวันนี้ศาลโลกนัดให้ไทย และ กัมพูชาชี้แจงกรณีมาตรการชั่วคราวก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยออกมาในอีก 3 สัปดาห์

ผลพวงจากการปะทะด้านชายแดน จ.สุรินทร์ เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากกัมพูชาปฏิเสธที่จะเจรจาทวิภาคีกับไทย แล้วยังได้ยื่นคำร้องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 และ ร้องขอให้ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราว 3 ข้อด้วยกัน ซึ่งวันนี้ศาลโลกนัดให้ไทย และ กัมพูชาชี้แจงกรณีมาตรการชั่วคราวก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยออกมาในอีก 3 สัปดาห์

สำหรับคำร้องให้ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราวกัมพูชาระหว่างการรอตีความคำพิพากษาเมื่อปี2505 นั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1.ให้ไทยถอนกำลังทั้งหมดออกจากส่วนต่างๆ ซึ่งกัมพูชาอ้างว่า เป็นดินแดนกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทพระวิหารทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข 2.ห้ามไทยมีกิจกรรมทางทหารใดๆ ในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และ 3 ให้ไทยงดการกระทำหรือการดำเนินการใดๆ ที่กระทบสิทธิของกัมพูชาหรือเพิ่มความขัดแย้งในการตีความ จนกว่าศาลโลกจะตีความคำพิพากษาเสร็จ ซึ่งในวันนี้ศาลโลกนัดให้ไทยและกัมพูชาชี้แจงกรณีมาตรการชั่วคราวดังกล่าว

จากนั้นอีก3 สัปดาห์ศาลจะมีคำวินิจฉัยว่าจะออกมาตรการชั่วคราวตามที่กัมพูชาร้องขอหรือไม่ ส่วนการพิจารณารับคำร้องตีความคำพิพากษาศาลโลกให้คู่ความทั้งสองประเทศยื่นเอกสารชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายในเดือนกันยายนนี้

หลังจากที่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลโลกแล้ว รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของไทย ประกอบด้วย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นตัวแทน อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นรองตัวแทน ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศสัญชาติฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และ แคนาดา รวม 3 คนเป็นทนายความ รวมทั้งแต่งตั้งผู้พิพากษาเฉพาะกิจชาวฝรั่งเศส ร่วมเป็นคณะผู้พิพากษาประจำศาลโลก

หากเปรียบเทียบกับหลายคดีที่ถูกร้องต่อศาลโลกมาตรการชั่วคราวที่กัมพูชาได้ร้องขอศาลโลก ได้สร้างความกังวลใจให้กับผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศไม่น้อย โดยนักกฎหมายตั้งข้อสังเกต และเปรียบเทียบในหลายกรณี โดยกรณีการยื่นคำร้องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปัญหาเขตแดนในอดีตที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่เข้าข่ายในลักษณะเดียวกัน คือ

1.พ.ศ. 2439 โคลัมเบียยื่นคำขอให้ศาลตีความคำตัดสินคดีชาวเปรูขอลี้ภัยเข้าไปในสถานทูตโคลัมเบีย ศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
2.พ.ศ. 2525 ตูนิเซียยื่นคำขอให้ศาลแก้ไขและตีความคำพิพากษาคดีพิพาทเรื่องไหล่ทวีป ระหว่างตูนิเซียและลิเบียศาลใช้เวลาพิจารณา 3 ปี จึงสรุปว่า รับพิจารณาคำขอตีความเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับตำแหน่งไหล่ทวีปเฉพาะจุดที่มีความไม่ชัดเจนจุดเดียว
3.พ.ศ .2542 ไนจีเรียร้องขอให้ตีความคำพิพากษาปี พ.ศ. 2541 ปัญหาขัดแย้งเขตแดนกับประเทศแคเมอรูน ศาลไม่รับคำร้อง
4.พ.ศ. 2546 เรื่องที่เอลซัลวาดอร์ร้องขอให้แก้ไขคำพิพากษาข้อพิพาทเขตแดนกับฮอนดูรัส ศาลไม่รับคำร้อง

ข้อกังวลของนักกฎหมายระหว่างประเทศคือทั้งสี่กรณีดังกล่าวไม่มีความรุนแรงถึงขั้นใช้กำลังทหาร ซึ่งต่างกับกรณีของไทยและกัมพูชา ที่มีการปะทะมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งอาจทำให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวตามที่กัมพูชาร้องขอ ซึ่งประเด็นหลักคือให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ก่อนจะมีคำวินิจฉัยว่าจะรับตีความหรือไม่เพราะหากถึงที่สุด แม้ศาลจะพิพากษาไม่รับตีความแต่การที่ไทยต้องถอนทหารออกมาจากพื้นที่อาจส่งผลต่อสิทธิอธิปไตย ในพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ศาลโลกไม่มีเหตุผลที่จะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่กัมพูชาร้องขอ เพราะคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2505 ได้ระบุชัดเจนว่า ตัวปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตอธิปไตยของกัมพูชา และ ไทยได้ปฏิบัติตามเรื่องนี้มานานแล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่รอบปราสาท และ พื้นที่พิพาทซึ่งยังอยู่ระหว่างการปักปันเขตแดน

สำหรับกระบวนการรับฟังข้อมูลของศาลโลกในวันนี้ไทย และ กัมพูชา จะเข้าให้ข้อมูลเพื่อชี้แจงต่อศาลบริเวณอาคารปราสาทสันติภาพ ภายในศาลโลก หรือ ไอซีเจ โดยกัมพูชาจะขึ้นให้คำชี้แจงเป็นปากแรก

ส่วนในวันพรุ่งนี้ (31 พ.ค.) จะเป็นขั้นตอนการไต่สวน ซึ่งตามกำหนดการไทยจะได้กล่าวสรุปในเวลา 17.00 น.ตามเวลาในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ตรงกับ 22.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง