ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประชาธิปไตยท้องถิ่น คนบ้านควน ใช้‘ประชุมสัญจร’ร่วมคิด+พัฒนา

6 ธ.ค. 55
11:47
143
Logo Thai PBS
ประชาธิปไตยท้องถิ่น คนบ้านควน ใช้‘ประชุมสัญจร’ร่วมคิด+พัฒนา

จากปัญหาที่ผู้นำท้องถิ่น ชุมชน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีการปรึกษาหารืออย่างสม่ำเสมอ ไม่มีการรับรู้และแลกเปลี่ยนปัญหาซึ่งกันและกัน

 ทำให้การทำงานพัฒนาไร้ทิศทาง ไร้ความเป็นปึกแผ่น และปราศจากเป้าหมาย ทำให้ผู้นำท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนตำบลของตำบลบ้านควน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เกิดความคิดร่วมกันว่า ควรจะจัดให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ และไม่ควรจะประชุมที่เดิมซ้ำๆ แต่ควรเวียนไปประชุมตามหมู่ต่างๆ ภายในตำบล

นายไพบูลย์ นุ้ยพิน อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านควน เล่าว่า การพูดคุยกันถึงปัญหาในการประสานงานของตำบลดำเนินมาเรื่อยๆ จนทำให้เกิดการดำเนินงานเรื่องการประชุมสัญจรขึ้นในปี 2538 ซึ่งการทำงานในหมู่บ้านในตำบล มีหลายปัญหาที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ง่ายๆ ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อการรับรู้ ช่วยกันให้ความเห็น จนกระทั่งนำมาสู่การลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในที่สุด

“เราตกลงกันว่าจะเกิดการประชุมสัญจรขึ้นทุกเดือน เราก็ให้จัดเตรียมศาลาของแต่ละหมู่บ้านทั้ง 18 หมู่บ้านเพื่อเป็นสถานที่ในการประชุม ซึ่งผู้ที่ต้องเข้าประชุมก็ได้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน นายก อบต. รองนายกฯ เลขาฯ รวมทั้งผู้นำในหน่วยงานของท้องถิ่นอย่าง ผอ.รพสต. เมื่อมีการประชุมในทุกๆ เดือน ทำให้ปัญหาในพื้นที่ได้รับการหยิบยกมาพูดคุยปรึกษาหารือและหาทางออกร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่มีประธานพูดอยู่คนเดียว แต่เป็นเวทีที่ทุกคนสามารถร่วมกันเสนอและวิพากษ์ สร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพราะเวทีสัญจรจะเป็นการนำเรื่องที่หมู่บ้านตัดสินใจไม่ได้เข้าสู่เวที

และนอกจากการกำหนดให้มีการประชุมเป็นประจำแล้ว เรายังกำหนดกติกาในการเข้าร่วมการประชุมเพื่อให้เกิดความตื่นตัว คือจะมีการปรับเป็นเงินสำหรับคนที่ขาดประชุม มาประชุมช้า หรือมาแล้วรีบกลับ โดยปรับกำนัน 200 บาท และปรับผู้ใหญ่บ้าน 100 บ้าน แล้วนำเงินค่าปรับมารวมเป็นกองทุนสวัสดิการตำบลที่นำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้านๆ เช่น นำมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยถูกให้แก่ผู้นำท้องถิ่นเนื่องจากผู้นำท้องถิ่นมีภาระค่าใช้จ่ายทางสังคมมาก หรือนำไปเป็นสวัสดิการแก่ชุมชน”

ด้านนายวชิรศักดิ์ คชาเศรษฐ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 กล่าวถึงกองทุนสวัสดิการตำบลว่า ปัจจุบันมีกติกาข้อกำหนดหลายอย่าง เพื่อกระตุ้นผู้เข้าร่วมประชุม และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งกติกาทุกข้อเป็นการตกลงร่วมกันของทุกคน

สำหรับ การปรับจะมีกฎกติกาหลายอย่าง เช่น การไม่เข้าประชุมหมู่บ้าน การไม่เข้าประชุมเวทีสัญจร การไม่ส่งคนมาอยู่เวรที่ศูนย์บริการประชาชน การอยู่ในที่ประชุมไม่ถึง 30 นาที หรือการไม่ใส่เสื้อตามที่กำหนดในการประชุม บางคนอาจจะมองว่า แค่การใส่เสื้อไม่น่าจะต้องมาปรับกัน แต่เราเห็นว่า การสวมเสื้อเหมือนกันเป็นการแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าแค่สวมเสื้อให้เหมือนคนอื่นคุณยังปฏิเสธ แล้วคุณจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างไร นอกจากนี้เงินที่นำเข้ากองทุนสวัสดิการตำบลก็ยังนำไปใช้ประโยชน์มากมายหลายด้าน ทั้งเป็นเงินกู้สำหรับผู้นำท้องถิ่น ทั้งนำไปสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน เช่น การแข่งกีฬา หรือ นำไปช่วยเหลือครอบครัวผู้นำท้องถิ่นที่เสียชีวิต

นายไพบูลย์ นุ้ยพิน เสริมว่า การประชุมในแต่ละครั้งจะใช้การพูดคุยจนกว่าจะเห็นเป็นฉันทามติร่วมกัน หากยังมีคนที่ยังไม่เห็นด้วย ก็จะพักประเด็นนั้นไว้ก่อน รวมทั้งในการจัดการกับปัญหาข้อพิพาทบางอย่างเช่น เรื่องที่ดิน ก็จะใช้ชุดไกล่เกลี่ยไปช่วยดำเนินการ มากกว่าการใช้กฎหมาย แต่ถ้ายังไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ ก็ต้องปล่อยให้ดำเนินการตามกฎหมายไป รวมทั้ง ยังมีการสร้างวัฒนธรรมในการประชุมของแต่ละหมู่บ้าน โดยกำหนดให้มีการประกวดการประชุม โดยมีระเบียบในการตัดสินประมาณ 13 ข้อ เช่น การจัดสถานที่ การใส่ใจในการประชุม ไม่พูดคุยกัน การมีส่วนร่วม เป็นต้น หากหมู่บ้านใดปฏิบัติได้ดี ก็จะได้รับรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจในการขับเคลื่อนงาน

ส่วน นายประเสริฐ ทองมณี อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านควน กล่าวว่า การประชุมสัญจรไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมประชุมเท่านั้น ยังช่วยสร้างวัฒนธรรมในการประชุม สนับสนุนการแสดงความเห็นและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นนวัตกรรมประชาธิปไตยท้องถิ่น นำปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน
“บ้านควนเราใช้วิธีคิดเองทำเองเป็นหลัก เวทีประชุมสัญจรเป็นกลไกที่ช่วยในการขับเคลื่อนกระบวนการคิดเองทำเองของเรา เอาความคิดมาแชร์กันในที่ประชุม และหมุนเวียนจัดกันไปใน 18 หมู่บ้าน เพื่อระดมความคิด ส่วนงบประมาณที่ใช้ บางเรื่องไม่ได้ใช้เยอะ เราก็ออกกันเอง แต่บางเรื่องก็ต้องใช้เยอะ เราก็ได้งบประมาณจากกองทุนสวัสดิการตำบล เมื่อก่อนเราจะทำอะไรเราต้องรอคำสั่ง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เราช่วยกันคิดช่วยกันทำ งบประมาณเราก็จัดการของเราเองได้ ซึ่งการจัดการเองได้ทำให้เราคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ เช่น จะทำถนนแล้วมันจะไปโดนที่นาชาวบ้านบ้างหรือเปล่า ทำแล้วมันคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน ทำแล้วเพียงพอหรือเปล่า ถ้าเงินไม่พอจะขอจากที่อื่น จากจังหวัด จาก ส.ส.ได้หรือเปล่า ซึ่งกระบวนการร่วมคิดร่วมทำทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการประชุมสัญจร”

อดีตนายกฯ อบต.บ้านควน ยังกล่าวอีกว่า การประชุมสัญจรยังเป็นกลไกหนึ่งที่ใช้ควบคุมผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อกำหนดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ต้องใส่เสื้อเหมือนกันในการเข้าประชุม เป็นกติกาที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เคารพในข้อตกลงของส่วนรวม ซึ่งทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี จากที่เคย “ต่างคนต่างอยู่” กลายเป็น “ร่วมคิดร่วมทำ” ร่วมตัดสินใจ และนำไปสู่การพัฒนาที่ทุกๆ คนมีส่วนร่วม ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมการประชุมด้วยกติกาข้อกำหนด และค่าปรับจากการทำผิดกติกา ก็นำไปสู่การสร้างกองทุนสวัสดิการตำบลซึ่งนำไปสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์คืนกลับสู่ชุมชน

สรุปได้ว่า “เวทีสัญจร”ของบ้านควน คือเครื่องมือประสิทธิภาพสูง ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพชุมชน ให้ร่วมการพัฒนาอย่างแท้จริง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง