เครือข่ายปฏิรูปพลังงาน ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา ยุติขึ้นราคาแอลพีจี
เครือข่ายปฏิรูปพลังงานแห่งชาติ ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยุติการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี เนื่องจากไม่เป็นธรรมต่อภาคประชาชน และเห็นว่าการให้ข้อมูลต่อประชาชนยังบิดเบือนว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากภาคครัวเรือนและยานยนต์ที่มีการใช้อย่างสิ้นเปลือง
เครือข่ายปฏิรูปพลังงานแห่งชาติ เดินรณรงค์จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังหน้ารัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อคัดค้านการขึ้นราคาแก๊ส แอลพีจีที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากข้อมูลกระทรวงพลังงานระบุว่าปี 2554 ประเทศไทยมีการใช้ก๊าซแอลพีจีทั้งประเทศรวม 6.9 ล้านตัน ใน 4 กลุ่ม คือ ภาคครัวเรือน เป็นภาคที่ใช้มากที่สุด คือ 2.6 ล้านตัน รองมาเป็นภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 2.4 ล้านตัน ภาคยานยนต์ 0.9 ล้านตัน และภาคอุตสาหกรรม 0.7 ล้านตัน โดยพบว่าราคาก๊าซแอลพีจีที่หน้าโรงกลั่น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 มีราคาเท่ากัน คือ 10.26 บาทต่อกิโลกรัม แต่กระทรวงพลังงานขายก๊าซให้กับกลุ่มผู้ใช้ในราคาที่แตกต่างกัน คือ ภาคครัวเรือน 18.13 บาท ภาคยานยนต์ 21.38 บาท และภาคอุตสาหกรรม 30.13 บาท แต่ภาคปิโตรเคมีที่มีสัดส่วนการใช้ค่อนข้างสูงเป็นลำดับ 2 กลับได้ใช้ก๊าซในราคาที่ถูกมาก คือ 16.20 บาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่ากลุ่มผู้ใช้กลุ่มอื่น
นอกจากนี้ สถานการณ์การใช้ก๊าซแอลพีจีในปัจจุบัน ประกอบด้วยผู้ใช้ในส่วนภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2554 พบภาคประชาชน มีสัดส่วนการใช้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 51.8 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 48.2 ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีเกือบครึ่งหนึ่งเกิดจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้จึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน ให้ยุติการปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจีในภาคครัวเรือนกับภาคยานยนต์ในปี 2556 และทบทวนการแบ่งสรรสัดส่วนการใช้ก๊าซแอลพีจี โดยเฉพาะในกลุ่มภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม ที่ควรต้องได้รับการจัดสรรจากแหล่งผลิตภายในประเทศไทยเป็นลำดับแรก
ส่วนภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอยู่แล้ว จึงควรเป็นภาคส่วนที่ต้องใช้ก๊าซนำเข้าแทน เนื่องจากก๊าซแอลพีจีที่ใช้ทั้งหมดในประเทศไทยมาจากแหล่งภายในประเทศถึงร้อยละ 55 หรือประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการใช้สำหรับภาคครัวเรือนและภาคขนส่งที่ใช้ก๊าซปีละ 2.6 ล้านตัน และ 0.9 ล้านตัน