ยุทธศาสตร์สำรองน้ำมันไทย ก่อนเข้าสู่
ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การสำรองน้ำมันของประเทศเพิ่มเป็น 90 วันจากปัจจุบันสำรองเพียง 36 วัน หรือร้อยละ 5 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบกว่าร้อยละ 85 จึงมีความเสี่ยงกับปัญหาภัยสงครามและภัยธรรมชาติ ที่จะทำให้การส่งออกน้ำมันหยุดชะงัก เบื้องต้นกรมธุรกิจพลังงานเตรียมออกประกาศการสำรองน้ำมันเพิ่มเติมเป็นร้อยละ 6 หรือ 43 วันในปีหน้า (56 )
สำหรับรูปแบบการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ 90 วัน ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบและวิธีการที่เหมาะสม เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก ในการลงทุน โดยการรองน้ำมันของประเทศญี่ปุ่น ในจังหวัดคุฟุโอกะ ที่ Shirsashima Oil Storage Company ซึ่งเป็นฐานสำรองน้ำมันแบบถังลอยน้ำแห่งแรกของโลก เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ประเทศญี่ปุ่น มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ทางยุทธศาสตร์ทั้งสิ้น 10 คลัง มีความจุน้ำมันรวมมากกว่า 253ล้านบาร์เรล และ Shirsashima Oil Storage Company ถือเป็นคลังสำรองน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 คิดเป็นร้อยละ 6 ของปริมาณสำรองรวมของประเทศซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันไปได้ 10-12 วัน
ทั้งนี้จากการสำรวจ การสำรองน้ำมันในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย พบว่า เกาหลีใต้ มีการสำรองน้ำมันมากที่สุด 193 วัน รองลงมาคือญี่ปุ่น 172 วัน จีน 98 วัน ไทย 36 วันและเวียดนาม 30 วัน
ขณะที่ นายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. เห็นว่า การสำรองน้ำมันแบบถังลอยน้ำเป็นรูปแบบหนึ่งที่ภาครัฐอาจนำมาใช้ในการสำรองน้ำมันดิบก่อนเข้าโรงกลั่น เนื่องจากปัจจุบันการขยายพื้นที่เก็บแบบบนดินมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ตัวถังและอุปกรณ์การจัดเก็บ ซึ่งยอมรับว่าการลงทุนเพิ่มที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น จะมีผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันได้
ทั้งนี้ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บ.ปตท.ยอมรับว่า การขยายฐานสำรองน้ำมันเป็น 43 ในปีหน้าจะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 30-40 สตางค์ต่อลิตร ทั้งในส่วนของโรงกลั่นและขายปลีก แต่หากการสำรองการน้ำมันระยะ 90 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลมีนโยบายเข้ามาสนับสนุนการลงทุนสร้างฐานสำรองน้ำมัน ก็จะทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคได้