คาดค่าครองชีพสูงขึ้นหลังปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การปรับค่าแรง 300 บาทจะทำให้สินค้าทยอยปรับขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 หรือราวเดือนมีนาคม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน ในกลุ่มอาหาร สินค้าเกษตร เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น การตรึงราคาสินค้าในปีที่ผ่านมา โดยราคาสินค้าจะปรับเพิ่มประมาณร้อยละ 5-10 ขึ้นอยู่กับการแข่งขันของสินค้าแต่ละประเภท และตัวแปรที่เกี่ยวข้อง เช่นราคาน้ำมันและก๊าซ
สอดคล้องกับการศึกษาโครงสร้างค่าแรงต่อต้นทุนราคาสินค้า ของกรมการค้าภายใน พบว่า การปรับค่าแรง จะกระทบต่อต้นทุนสินค้าโดยรวมไม่มาก แต่อาจมีผลกับผู้ประกอบการบางกลุ่ม โดยหลักๆ จะเป็นภาคการเกษตร และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี เพราะใช้แรงงานเข้มข้น และมีต้นทุนจากค่าขนส่ง
สินค้าอย่าง ข้าว ธัญพืช มันสำปะหลัง ข้าวโพด จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-5 / ผักผลไม้ เช่นกะหล่ำปลี ผักกาดขาว ต้นทุนสูงขึ้นกว่าร้อยละ 2 ส่วนเนื้อหมู ไข่ไก่ ต้นทุนจะขยับขึ้นประมาณร้อยละ 1
ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เช่น น้ำมันปาล์ม สบู่ ผงซักฟอก ไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากโรงงานผู้ผลิตส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัดที่มีการปรับค่าแรงไปแล้ว
ส่วน นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย บอกว่าผู้บริโภคจำใจต้องยอมรับ กับราคาสินค้าที่จะขยับเพิ่มสูงขึ้นในปีะหน้า และจะต้องปรับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย
แม้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่นักวิชาการคาดการณ์ว่า จะไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวเกินร้อยละ 3.5 ซึ่งถือเป็นอัตราที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจของไทย
แต่ในส่วนของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะผลักดันให้เงินเฟ้อต้นปีหน้าขยับสูง ขณะที่การปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศคาดอยู่ในกรอบร้อยละ 3-3.6 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจ ต้องเผชิญแรงกดดันจากการปรับค่าจ้างที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านต้นทุนครั้งสำคัญของบางธุรกิจ