ทหารพม่าโจมตีกลุ่มคะฉิ่น
ภาพที่กลุ่มเบอร์มา ฟรี แรนเจอร์ส์ (Burma Free Rangers) ซึ่งเป็นกลุ่มช่วยเหลือด้านมนุษยชน อ้างว่า เป็นภาพเครื่องบินขับไล่ของกองทัพ ที่โจมตีทางอากาศกองกำลังของกลุ่มปลดปล่อยคะฉิ่น ในรัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของพม่า เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ออกเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนเพิ่มหลังจากที่เมื่อวานนี้ รัฐบาลพม่า ยอมรับว่ากองทัพโจมตีทางอากาศกลุ่มกบฏคะฉิ่นจริง มุ่งเป้าสกัดสมาชิกกองกำลังคะฉิ่น ที่พยายามจะโจมตีเส้นทางลำเลียงเสบียงของกองทัพ
ก่อนหน้านี้ผู้อำนวยการสำนักประธานาธิบดีพม่า ระบุว่า ไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศ แต่ภายหลังมีการยอมรับถึงการโจมตีทางอากาศ ซึ่งผู้แทนเจรจาสันติภาพของรัฐบาล เชื่อว่ากองทัพใช้เครื่องบินรบสำหรับการฝึกซ้อม ในปฏิบัติการณ์ดังกล่าว ขณะที่ฝ่ายกบฏอ้างว่า การโจมตีทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 300 คน
การโจมตีทางอากาศโดยกองทัพรัฐบาลพม่า สร้างความกังวลแก่นานาชาติ ที่ก่อนหน้านี้ต่างยินดีกับการปฏิรูปการเมืองในประเทศที่รุดหน้า แต่เหตุขัดแย้งระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกลุ่มกบฏคะฉิ่น ที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ทำให้พม่าเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติอีกครั้ง
นายบัน คี มุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ เรียกร้องให้ทางการพม่า ยับยั้งการกระทำใดๆก็ตาม ที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของพลเรือนที่อาศัยในพื้นที่ หรือกระทำการที่จะยิ่งทำให้ความรุนแรงขยายวงกว้าง เช่นเดียวกับนางวิคตอเรีย
นูแลนด์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่แสดงความไม่สบายใจอย่างยิ่ง เกี่ยวกับข่าวที่กองทัพพม่าใช้การโจมตีทางอากาศต่อกองกำลังปลดปล่อยคะฉิ่น และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ากับกลุ่มกบฏคะฉิ่น ยุติความขัดแย้งระหว่างกัน รวมทั้งขอให้หันหน้ามาเจรจากัน เหมือนที่รัฐบาลพม่าเคยพูดคุยกับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ขัดแย้งพื้นที่อื่นๆได้
การต่อสู้ระหว่างกองทัพกับกลุ่มกบฏคะฉิ่นรุนแรงขึ้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากทั้งสองฝ่ายฉีกข้อตกลงหยุดยิงที่รักษามาถึง 17 ปี ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ทำให้ชนเชื้อสายคะฉิ่นต้องอพยพภัยสงครามแล้วประมาณ 75,000 คน ความรุนแรงในรัฐคะฉิ่น สร้างความสงสัยเกี่ยวกับความจริงใจของบรรดานักปฏิรูปในรัฐบาล ที่เคยเป็นอดีตนายพลในกองทัพพม่า รวมทั้งเกิดคำถามถึงอำนาจที่แท้จริง ที่รัฐบาลมีอยู่ในมือ
นักวิเคราะห์บางส่วน รวมทั้งนักการทูตบางคน มองว่ารัฐบาลอาจไม่ยึดมั่นในการสร้างสันติภาพกับกลุ่มกบฏคะฉิ่นอย่างแท้จริง หรือไม่มีรัฐบาลก็อาจจะไม่มีอำนาจควบคุมกองทัพอย่างเต็มที่ และกองทัพยังมีอิทธิพลเหนือการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ แม้จะอ้างว่าวางมือจากอำนาจปกครองและบริหารไปในเดือนมีนาคม 2554