ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตอนล่างขยายวงกว้าง หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง

ภูมิภาค
4 ม.ค. 56
11:01
95
Logo Thai PBS
สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตอนล่างขยายวงกว้าง หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง

สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ตอนล่างยังคงขยายวงกว้างออกไป เพราะยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายจังหวัด ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนพายุโซนร้อน "โซนามุ" ฉบับที่ 1 เคลื่อนตัวอยู่ในทะเลจีนใต้ และมีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างของไทย ซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ได้

ฝนที่ตกหนักในขณะนี้ทำให้ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมในชุมชนหัวสะพานและชุมชนท่าประปา ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ต้องอพยพครอบครัวไปอยู่ที่โรงเรียนเทศบาล 4 หลังระดับน้ำเพิ่มสูง และขยายพื้นที่มากขึ้น

ที่จังหวัดยะลา น้ำในแม่น้ำสายบุรี หมู่ที่ 5 ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำ ชาวบ้านถูกน้ำท่วมแล้วหลายครอบครัว

เช่นเดียวกับจังหวัดพัทลุง น้ำที่ท่วมขังบริเวณริมทะเลสาบหมู่ที่ 5 หมู่ที่ 9 ตำบลพนางตุง /หมู่ที่ 2 ตำบลมะกอกเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน ระดับน้ำยังทรงตัว เพราะน้ำทะเลหนุนและฝนตกต่อเนื่อง ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 200 ครอบครัว

ขณะที่พื้นที่ราบลุ่มบริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลบางรัก อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ยังคงถูกน้ำท่วมขัง คาดว่าถ้ามีฝนตกอีก น้ำอาจท่วมขยายวงกว้างไปยังตำบลใกล้เคียง

ขณะเดียวกันได้เกิดพายุโซนร้อน "โซนามุ" กำลังจะเคลื่อนตัวอยู่ในทะเลจีนใต้ตอนกลาง ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับภาคใต้ของไทยได้ในสัปดาห์หน้า แต่ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร วิเคราะห์จากแบบจำลองสภาพอากาศของสถาบันว่า พายุโซนร้อนโซนามุจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้พายุจะเคลื่อนตัวลงไปทางตอนใต้ประเทศมาเลเซียและน่าจะสลายตัวในวันที่ 8 ม.ค.นี้

จึงไม่น่าทำให้มีฝนหนักในจังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส โดยปริมาณน้ำฝนจะอยู่ระดับ 40 - 50 มม.เท่านั้น ขณะที่ศักยภาพการกักเก็บน้ำของเขื่อนบางลางยังคงสามารถรับน้ำได้ ร้อยละ 50

ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนพายุโซนร้อนโซนามุ ฉบับที่ 1 ซึ่งจะส่งผลให้ระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค.มีฝนตกในภาคใต้ โดยพายุนี้เป็นพายุลูกแรกที่ก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ในเดือน ม.ค.ในรอบ 60 ปี ซึ่งนายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ย้ำว่าจะไม่รุนแรง จนทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เหมือนปี 2553


ข่าวที่เกี่ยวข้อง