พท.ยังไม่สรุปแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ
การสัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา วานนี้ (6 ม.ค.) ต้องจัดแบ่งกลุ่มศึกษาทั้ง 3 แนวทาง โดยเปิดโอกาสให้ส.ส.และสมาชิกพรรคได้อภิปรายแสดงความเห็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ โดยมีการอภิปรายกันอย่างเข้มข้น
ขณะที่ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและการออกเสียงประชามติ สรุปแนวทางดังกล่าวว่าการดำเนินการของพรรคเพื่อไทย ได้เกิดแนวทางใหม่ขึ้นมาที่จะเสนอต่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่เป็นประธานคณะทำงานศึกษาการทำประชามติว่า ควรให้สถาบันการศึกษาเช่นคณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ จาก 3-4 สถาบันการศึกษามาศึกษาเรื่องนี้แล้วจากนั้นก็ส่งผลมาให้คณะทำงานฯ อีกครั้ง
ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา 9 ประเด็น รวม 81 มาตรา ประกอบด้วย
1. ยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
2. ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
3. ศาลรัฐธรรมนูญให้คงอยู่ แต่เป็นแผนกหนึ่งของศาลฎีกา
4. ศาลปกครองก็ทำเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา
5. ยุบผู้ตรวจการแผ่นดิน
6. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องมีอยู่ แต่ให้มาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และต้องตรวจสอบได้
7. คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ ก.ก.ต. มาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี อยู่บนเงื่อนไขที่ตรวจสอบได้เช่นกัน
8. แก้ไขมาตรา 190 ไม่ต้องขออำนาจจากรัฐสภา เนื่องจากบั่นทอนการทำงานของรัฐบาล 9. แก้ไขมาตรา 237 ไม่ให้มีการยุบพรรรค พรรคการเมืองต้องคงไว้เป็นสัญลักษณ์
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ทางพรรคยังคงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจุดยืนของพรรคจะได้หารือร่วมกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาลในวันนี้ (7 ม.ค.56) หากการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ลิดรอนอำนาจองค์กรอิสระ และไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่กระทบความอิสระของตุลาการ หรือ เพื่อล้างความผิดใดคงไม่มีปัญหา