ความคิดเห็นที่แตกต่างของ คณะกรรมการ กสทช.กรณียุติออกอากาศ เหนือเมฆ 2
มาตรา 37 ที่มี เนื้อหาที่ครอบคลุม เกี่ยวกับการห้ามออกอากาศ เนื้อหาที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, หรือมีเนื้อหากระทบต่อความมั่นคงของรัฐ, กระทบต่อความสงบเรียบร้อย, กระทบต่อศีลธรรมอันดีงาม และลามกอนาจาร โดยให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ตรวจสอบ และระงับการออกอากาศ และหากไม่ดำเนินการ ก็ให้กรรมการ ในที่นี้ หมายถึง กสทช.มีสิทธิ์สั่งการ หรือ ตั้งกรรมการสอบสวนได้
มาตรา 37 ถูกนำมาเป็นเหตุผลหลักที่ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 ชี้แจงกับ คณะกรรมการกสทช. แม้จะไม่ใช่แบบเป็นทางการ แต่หากนับตั้งแต่ก่อตั้ง กสทช. ก็มีเพียงกรณีเดียวที่ มาตรา 37 ถูกนำมาใช้ คือการแพร่ภาพออกอากาศ รายการ เรียลลิตี้โชว์ ไทยแลนด์ก็อตทาเล้นต์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 จนเป็นที่วิพากวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมอย่างกว้างขวางในสังคม
ต่อมาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง ของ กสทช. ก็มีมติสั่งปรับเงินทางปกครองสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท เพราะเห็นว่า เป็นการเผยแพร่รายการที่มีเนื้อหาลามก อนาจาร
ครั้งนั้น ผู้บริหารบริษัท เวิร์คพ้อยท์ ผู้ผลิตรายการดังกล่าวป้อนให้กับช่อง 3 ยืนยันว่า เกิดจากความผิดพลาดกันเอง ในการตรวจสอบเนื้อหาก่อนออกอากาศ
แต่สำหรับ กรณีละครเหนือเมฆ2 ที่ยุติการออกอากาศกระทันหัน โดยช่อง 3 ใช้ ประเด็นมาตรา 37 แจ้งกับ กสทช.นั้น แม้จะอ้างว่า "ไม่เหมาะสม" แต่ก็ไม่ได้ยืนยันหรือชี้แจงว่า ไม่เหมาะสมอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ คณะกรรมการ กสทช.ที่ดูแลงานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ บอร์ดกสท. หลายคน มีความเห็นต่างแตกต่างกันไป และเป็นเหตุผลให้บอร์ดกสท.วันนี้ ไม่สามารถพิจารณาได้ว่า การยุติออกอากาศของช่อง 3 อย่างกระทันหัน ทำถูกต้องหรือไม่
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานบอร์ด กสท.เห็นว่า แม้จะยังไม่มีคำชี้แจงเป็นทางการจากช่อง 3 แต่การกล่าวอ้างถึงมาตรา 37 นั้น เห็นว่า ผู้ที่มีอำนาจพิจารณาเป็นใครทำผิดมาตรานี้หรือไม่ ก็ควรเป็นกสทช. แต่ผู้ประกอบการก็มีสิทธิ์ดูมาตรานี้ประกอบ เพื่อไม่ให้การผลิตรายการ สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดตามมาตรานี้ แต่เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเหตุผลการระงับการออกอากาศมากขึ้น จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาด้านเนื้อหา และผังรายการ กลับไปรวบรวมข้อมูลให้รอบด้าน มาเสนออีกครั้งในที่ประชุมบอร์ดสัปดาห์หน้า
ขณะที่ กรรมการกสทช.อีกคน ซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเนื้อหา รายการ เห็นว่า เป็นสิทธิ์ของช่อง 3 ที่จะพิจารณาตัวเองว่า มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และไม่ใช่เรื่องใหญ่หากพบว่าเกิดปัญหาแล้วยุติการออกอากาศ
แต่ในมุมมองของ กสทช.ที่ดูแลงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค กลับเห็นว่า การที่ช่อง 3 อ้างกฎหมาย มาแบนละครโดยไม่มีหลักการ จะส่งผลให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อความเป็นองค์กรสื่อ และเห็นว่าการกำกับดูแลกันเอง กับการตรวจสอบหรือเซนเซอร์ มีความแตกต่างกัน ซึ่งเหตุการณ์นี้ มีโอกาสที่ช่อง 3 จะใช้ดุลพินิจในทางที่ผิด และส่งผลกระทบอต่อสิทธิของประชาชนในสิทธิ์ที่ควรมีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ว่าเรื่องนี้จะยังไม่ได้ข้อยุติ แต่สิ่งที่สังคมอยากได้ คือ เหตุผลที่ช่อง 3 ระงับการออกอากาศกระทันหัน
วันพรุ่งนี้ (8 ม.ค.) สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เตรียมไปยื่นหนังสือต่อ กสทช.ในวันพรุ่งนี้ เพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหา และตรวจการกรณีที่ช่อง 3 ยุติออกอากาศเรื่องเหนือเมฆ2 เพราะเห็นว่าเป็นการริดรอนสิทธิผู้ชมหรือผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 และ 61 และหากไม่ดำเนินการให้กลับมาออกอากาศ จะยื่นฟ้องศาลปกครองด้วย