วายร้ายในภาพยนต์ หรือการ์ตูนกลับใจ แสดงให้เห็นว่าอดีตอันเลวร้าย ไม่ใช่อุปสรรคหากคิดกลับใจทำดี
การได้รับบทวายร้ายมาตลอด 30 ปี ทำให้ Wreck-It Ralph จอมทำลายแห่งเกมยุคเก่า ตัดสินใจหนีออกจากเกมของตนเองไปเป็นฮีโร่ของเกมสมัยใหม่ด้วยการเอาชนะเหล่าร้ายในเกมนั้น หรือการที่ด็อกออค คู่แค้นของไอ้แมงมุม ที่ประสบความสำเร็จในการสลับร่างกับปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ แต่ยกเลิกแผนการล้างแค้น และหันมาใช้ร่างใหม่เพื่อเป็นสไปเดอร์แมนที่แข็งแกร่งกว่าเดิม คือกระแสที่อยู่ในผลงานแอนิเมชั่นลุ้นออสการ์และการ์ตูนที่มีผู้ชม ติดตามทั่วโลก โดยใช้เสน่ห์ของวายร้ายกลับใจมาสร้างสีสันในการ์ตูน
วายร้ายกลับใจ เป็นหนึ่งในลักษณะของ Antihero มักขาดคุณสมบัติของวีรบุรุษที่สังคมยอมรับ นั่นคือ จริยธรรม ความกล้าหาญ อุดมการณ์ หรือหน้าตาดี รวมถึงมีอดีตเชื่อมโยงกับด้านเลวร้าย ก่อนเปลี่ยนมาทำหน้าที่ฝ่ายดี เสน่ห์จึงอยู่ที่สถานการณ์ที่ยากแก่การคาดเดาของเหล่าวายร้ายกลับใจ
ในมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่น มีวายร้ายกลับใจที่โด่งดังในผลงานหลายเรื่อง บ่อยครั้งที่ตัวละครเหล่านี้ต้องต่อสู้กับพระเอกที่มีพรสวรรค์ หรือ ได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างมากกว่า แต่พวกเขาก็ไม่ย่อท้อที่จะพิสูจน์ตัวเอง แม้ภายหลังจะหันมาต่อสู้เพื่อความถูกต้องแต่ก็ยังคงภาพลักษณ์การเป็นคนนอกของสังคมไว้เช่นเดิม จนกลายเป็นตัวละครที่มีผู้ติดตามมากมาย ซึ่งผลสำรวจที่ญี่ปุ่นพบว่าตัวการ์ตูนที่ผู้หญิงอยากนัดพบด้วยมากที่สุด 2 อันดับแรกได้แก่ตัวละคร Antihero และวายร้ายกลับใจ ทั้งสุภาพบุรุษจอมโจร อาร์เซน ลูแปง ที่ 3 และ เบจิต้า หนึ่งในวายร้ายที่หันช่วยปกป้องโลกในการ์ตูน ดรากอนบอล
การที่ตัวละครวายร้ายกลับใจได้รับความนิยมอย่างมาก เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การมีอดีตอันเลวร้ายไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ตัวละครเหล่านั้นกลับกลายมาเป็นขวัญใจ หากพวกเขาหันมาใช้ความสามารถในทางที่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ยังช่วยปลูกฝังค่านิยมว่า คนทุกคนสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ หากสังคมเปิดใจยอมรับคนที่มีความผิดพลาดในอดีต เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ