“ปฏิญญาปัตตานี” ส่งเสริมความสงบสุข-ป้องกันสังคมจากความแตกแยก
“ปฏิญญาปัตตานี” ที่ลงนามร่วมกันระหว่างผู้แทนจากประเทศต่างๆ เกือบ 40 ประเทศ ซึ่งมาร่วมประชุมอิสลามนานาชาติ แม้จะมีเนื้อหาหลัก คือการส่งเสริมด้านอิสลามศึกษา โดยเน้นคุณค่าของความสงบสุข และความเป็นหนึ่งเดียว แต่หัวข้อที่มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางในการประชุม คือ ถึงเวลาแล้วที่คนมุสลิมทั่วโลก จะต้องแสดงพลังต่อต้านการก่อการร้าย และยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องสังคมจากความแตกแยก ซึ่งในมุมมองของคนในพื้นที่บางคนเห็นว่า การแก้ไขความขัดแย้ง รัฐจะต้องใจกว้างพอที่จะลดการผูกขาด แล้วยอมกระจายอำนาจ และงบประมาณ ลงสู่ท้องถิ่น
ตรงกับนักวิชาการด้านอิสลามศึกษา ที่เห็นว่า ในพื้นที่มีต้นทุนมากพอ ที่จะยกฐานะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านอิสลามศึกษา หรือเป็นแกนกลางในการแก้ไขความรุนแรง โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่สามารถทำหน้าที่เชื่อมต่อกับประเทศมุสลิมหรือปราชญ์มุสลิมทั่วโลก เพื่อให้ช่วยกันเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบ
นอกจากความก้าวหน้าในความร่วมมือด้านอิสลามศึกษา สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการประชุมครั้งนี้ คือ ท่าทีของรัฐบาลหลายประเทศที่ยินดีให้ความร่วมมือกับไทย หากมีการร้องขอให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในสามจังหวัด โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย หรือ มาเลเซีย เพราะแต่ละประเทศมีเคยมีปัญหาความแตกแยกของคนต่างความเชื่อ และมีพื้นฐานของปัญหาที่คล้ายคลึง บทเรียนจากประเทศอื่นๆในการแก้ไขความรุนแรงอย่างสันติ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องเรียนรู้