ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดีเอสไอตรวจสอบศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ม.ขอนแก่นซื้อยา "โบเซนแทน" ราคาสูงผิดปกติ

15 ม.ค. 56
13:45
454
Logo Thai PBS
ดีเอสไอตรวจสอบศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ม.ขอนแก่นซื้อยา "โบเซนแทน" ราคาสูงผิดปกติ

การจัดซื้อยาโบเซนแทน หรือ ยารักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอาการความดันของเส้นเลือดในปอดสูง ของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสูงเกินความเป็นจริง ทำให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฎิบัติการคดีพิเศษภาคตะวันออกเฉียง ต้องเข้าตรวจสอบการจัดซื้อ เพื่อหาความเชื่อมโยงการทุจริตกับผู้ที่มีส่วนรู้เห็น

ตารางเปรียบเทียบการจัดซื้อยาโบเซนแทน หรือยารักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอาการความดันของเส้นเลือดในปอดสูง ของโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2550 ถึง ปีพ.ศ. 2555 จากการรวบรวมของเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฎิบัติการพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่าศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดซื้อยาโบเซนแทนสูงกว่าโรงพยาบาลอื่นเกือบเท่าตัวเป็นเวลาต่อเนื่องนานกว่า 5 ปี

ข้อพิรุจที่พบโดยเฉพาะการจัดซื้อยาโบเซนแทน ของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ขนาด 125 มิลลิกรัมบรรจุขวดละ 60 เม็ด ราคาขวดละ 146,590 บาท หรือราคาเม็ดละ 2,443 บาท 16 สตางค์ ต่างจากราคากลางที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศไว้ให้จำหน่ายอยู่ที่เม็ดละ 1,605 บาท หรือกล่องละ 96,300 บาท เป็นหลักฐานสำคัญที่ดีเอสไอเตรียมรวบรวมข้อมูลเพื่อเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะคณะกรรมการจัดซื้อยาของศูนย์หัวใจสิริกิตซึ่งคาดว่ามีผู้เกี่ยวข้องประมาณ 10 คน

การจัดซื้อยาแพงเกินความเป็นจริงผู้บริหารคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ้างว่าเกิดจากความบกพร่องของคณะกรรมการจัดซื้อกับบริษัทยาซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายยาโบเซนแทนเพียงรายเดียวของประเทศ ซึ่งศูนย์หัวใจสั่งซื้อยาดังกล่าวด้วยวิธีพิเศษโดยไม่มีการเปรียบเทียบราคากับโรงพยาบาลอื่น จึงเชื่อว่าไม่มีเจตนาทุจริต พร้อมระบุว่าการจัดซื้อยาในราคาดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดของบริษัทยาซึ่งเป็นผู้กำหนดราคาเมื่อ 6 ปี ก่อนซึ่งยังไม่มีการประกาศราคากลางของกระทรวงสาธารณสุข

ความผิดปกติในการจัดซื้อยาโบเซนแทน แม้ผู้บริหารศูนย์หัวใจสิริกิติ์จะอ้างว่าเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่จัดซื้อและไม่มีเจตนาทุจริต แต่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอยังคงรวบรวมหลักฐานโดยเฉพาะ การสอบปากคำคณะกรรมการจัดซื้อของศูนย์หัวใจซึ่งมีทั้งเภสัชกร เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ และรวบรวมเอกสารการจัดซื้อยาดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2555 เพื่อหาความเชื่อมโยงก่อนจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง