พัฒนาพันธุ์ “พริกหนุ่มเขียวหยกสยาม” สนองตลาดต้องการสูง
เพื่อให้พันธุ์แข็งแรง ผลผลิตสูง ตรงใจเกษตรกร และส่งออกขายยังเพื่อนบ้าน
พื้นที่ปลูกพริกหนุ่มเขียวของประเทศ ส่วนใหญ่จะมาจากจังหวัดแถบภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ แพร่ น่าน สุโขทัย พิษณุโลก หนองคาย และอยุธยา สำหรับในเขตอำเภอหนองม่วงไข่ จ.แพร่ แล้ว นับว่าเป็นเขตที่มีการปลูกพริกจำนวนมาก ถึงประมาณ 9,000 กว่าไร่ เพื่อส่งจำหน่ายไปยังตลาดใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง จึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างมหาศาล
แต่ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น คือการพัฒนาสายพันธุ์พริก เพื่อให้เจริญเติบโตได้ดี ทนทานต่อโรค ดูแลรักษาง่าย ตลอดจนปรับตัวได้ดีในทุกสภาพอากาศและภูมิประเทศ เพื่อให้ได้ลูกดก ผลใหญ่ น้ำหนักดี สีสวยอย่างที่ตลาดต้องการ อย่าง “พริกหนุ่มเขียวพันธุ์หยกสยาม” ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จากผู้เชี่ยวชาญมากว่า 10 ปี จนกระทั่งได้สายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดและเกษตรกรในที่สุด
นางสาวกัญญา รอดเสียงล้ำ ผู้จัดการส่วนปรับปรุงพันธุ์พืชธุรกิจเมล็ดพันธุ์ บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสายพันธุ์พริกที่เจียไต๋ได้พัฒนามากกว่า 30 สายพันธุ์ อาทิ พริกหยวก สายพันธุ์ปากคลอง 192 พริกขี้หนูดวงมณี 004 พริกขี้หนูรังสิมา 095 พริกขึ้นหนูขาวมณีทอง 1094 เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างดี ล่าสุดเจียไต๋ได้พัฒนาพันธุ์ของพริกหนุ่มในชื่อ “พริกหนุ่มเขียวพันธุ์หยกสยาม” ที่ถือว่าตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้ดีที่สุด
“พริกหนุ่มเขียวพันธุ์หยกสยาม เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในจังหวัดในภาคเหนือ อาทิ แพร่ น่าน เชียงใหม่ สุโขทัย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากเกษตรกรอย่างมาก เพราะเก็บเกี่ยวครั้งเดียวก็สามารถให้ผลผลิตที่มากกว่าเดิม ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และยังสามารถตอบสนองวิสัยทัศน์ของทางเจียไต๋ที่ต้องการให้คุณภาพความเป็นอยู่ของชีวิตเกษตรกรนั้นดีขึ้นได้อีกด้วย” คุณกัญญา กล่าว
ป้าอำรวยและลุงสันติ ไข่ติ สองสามีภรรยาเกษตรกรชาวอำเภอหนองม่วงไข่ จ.แพร่ ผู้ปลูกพริกมากว่า 30 ปี เล่าว่า บนพื้นที่กว่า 3 ไร่บริเวณนี้ แรกเริ่มจะปลูกข้าวโพด ตลอดจนพริกหนุ่มเขียวพันธุ์พื้นเมืองต่าง ๆ ซึ่งพริกที่ได้จะมีลำต้นสูง ไม่ทนต่อโรค และให้ผลผลิตน้อยเพียง 4-5 ตันต่อปี หลังจากที่เพื่อนบ้านแนะนำ“พริกหนุ่มเขียวพันธุ์หยกสยาม” ของเจียไต๋ ที่ให้ผลผลิตดี ทนต่อโรค รูปทรงผลตรง มีสีสันสวยงามจึงลองเปลี่ยนมาปลูกดูบ้าง จนปัจจุบันปลูกมากว่า 5 ปีแล้ว พริกพันธุ์นี้สามารถได้ผลผลิตถึง 11-12 ตันต่อปี สร้างรายได้ให้ครอบครัวปีละกว่า 2-3 แสนบาท
“จุดเด่นของพริกหนุ่มเขียวพันธุ์หยกสยามคือ เราสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หมด ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ต้านทานโรคได้ดีเยี่ยม รูปทรงตรง มีสีสันสวยงาม ผลแน่นตึง ทนทานต่อการขนส่ง และวิธีการดูแลรักษาง่าย เมื่อเทียบกับพริกพันธุ์อื่นๆ เป็นที่ต้องการของตลาดสูง ซึ่งทุกวันจะมีแม่ค้ามารอซื้อทุกวัน อยากได้พริกเขียวก็เก็บพริกเขียวขาย อยากได้พริกแดง ก็เก็บพริกแดงขาย ทำให้มีเงินเข้ากระเป๋าทุกวัน”
สองเกษตรกร เล่าให้ฟังว่า การเก็บผลผลิตพริกหนุ่มเขียวพันธุ์หยกสยามจะแบ่งเป็น 3 ระยะคือ พริกเขียว พริกก้ามปู (พริกโหด) และพริกแดง โดยพริกก้ามปู ซึ่งมีลักษณะสีเขียวแกมแดง จะเป็นพริกที่เกษตรกรขายได้ราคาดีที่สุด เนื่องจากเป็นระยะที่พริกได้น้ำหนักมาตรฐาน ส่วนการเก็บเกี่ยวพริกจะเริ่มเมื่อ 80-90 วันหลังหยอดเมล็ด ทุกวันหลังเก็บจะนำมาคัดแยกสี จากนั้นจึงนำมาใส่ถุง ๆ ละ 10 กิโลกรัมเพื่อรอแม่ค้ามารับซื้อถึงไร่ โดยราคาขายพริกเขียวตกกิโลกรัมละ 15 บาท พริกก้ามปู ราคากิโลกรัมละ 30-50 บาท และพริกแดงราคากิโลกรัมละ 16-17 บาท สำหรับพริกแดงจะเด็ดขั้วก่อนเพื่อตากแดดทำพริกแห้งหรือส่งขายให้กับโรงงานผลิตซอสพริกที่มีกระจายอยู่ทั่วไป
ด้านแม่ค้าพริก นางจันทร์แรม หาญน้อย กล่าวว่า ในจังหวัดแพร่เกษตรกรนิยมปลูกพริกหนุ่มเขียวพันธุ์หยกสยามจำนวนมาก มีประมาณกว่า 500 ไร่ โดยผลผลิตที่ได้ถือเป็นพริกที่ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างมาก เพราะนิยมพริกเมล็ดใหญ่ ผิวสวยงาม สีสันเขียวนวล รูปทรงผลตรง และยังส่งไปถึงโรงงานทำน้ำพริกและซอสต่างๆ นอกจากตลาดใหญ่ ๆ ทั่วไป สำหรับผลผลิตโดยรวมในช่วงนี้มีประมาณวันละ 10 กว่าตัน และจะเข้าสู่ตลาดมากในช่วงต้นเดือนมกราคม 2556 อาจมีถึงวันละ 200-300 ตันต่อวัน คาดว่าตลาดพริกไม่มีทางตันแน่นอนและยังมีความต้องการอีกมากทั้งในประเทศ ที่สำคัญขณะนี้กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ด้วย
สำหรับ เทคนิคสำคัญของการปลูกพริกเพื่อให้ผลผลิตดี คือจะให้ความสำคัญกับการใช้ปุ๋ยอย่างมาก เช่น ในระยะหลังย้ายปลูกถึงพริกเริ่มติดผล ครั้งที่ 1 หลังย้ายปลูก 5-7 วัน จะใช้ปุ๋ย 21-0-0 ผสมกับปุ๋ยตรากระต่าย 15-15-15 อัตราส่วน 1:1 ผสมน้ำอัตรา 100-200 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ผสมธาตุอาหารเสริม หรือฮอร์โมน รดทุก 7 วัน 3-4 ครั้ง และครั้งที่ 2 หลังย้ายปลูก 15-20 วัน ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 5-10 กรัม/ต้น โดยเจาะหลุมระหว่างต้นพริกกรณีใส่ปุ๋ยร่วมกับระบบน้ำหยด จะให้ปุ๋ยน้ำหยดสูตร 20-20-20+TE ในอัตรา 0.5กรัม/ต้น ทุกวัน
เมื่อถึงระยะพริกเริ่มติดผลจนถึงเก็บเกี่ยว จะใส่ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 50 กก./ไร่ จากนั้นใส่อีกทุกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว และปุ๋ยน้ำหยดสูตร 17-10-27 +TE ในอัตรา 1.0 กรัม/ต้น นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือยาปราบศัตรูพืชต่าง ๆ อาทิ “โนมิลดิว” สำหรับแก้รากเน่า ผลเน่า “โมแซท” เพื่อปราบเพลี้ยไฟ และ “เทนเอ็ม” แก้เชื้อรา ซึ่งสามตัวนี้ทำให้ผลผลิตเป็นที่พอใจ